ปี 2564 เป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ทางการเมืองไทยเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในรัฐบาล-รัฐสภา-ศาล และบนท้องถนน
บางสิ่งที่เคยเกิดขึ้น จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวใหม่-ใหญ่เมื่อปีก่อน กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกระบุให้ “เลิกการกระทำในอนาคต”
บางสิ่งที่นักเลือกตั้งอาชีพไม่คาดคิดว่าจะแก้ได้ กลับได้แก้ ทำให้การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ไม่ง่ายนัก
บางคนที่ถูกรุมเขย่าให้แตกคอกัน กลับยังกอดคอรักกันดี
บีบีซีไทยสรุปความเคลื่อนไหวสำคัญของการเมืองไทยในรอบปี 2564 มาไว้ ณ ที่นี้
ในสภา
รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลจากสภาผู้แทนราษฎร ทั้งก่อนใช้งบประมาณแผ่นดินและเงินกู้ และระหว่างบริหารราชการแผ่นดิน
ในรอบปีที่ผ่านมา ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 2 ครั้ง พุ่งเป้าโจมตีการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดบกพร่อง นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและสังคม ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และยังกล่าวหานายกฯ ว่า “นำสถาบันฯ เป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันฯ มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”
ครั้งแรก ซักฟอกนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 10 คน ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.
ครั้งที่สอง ซักฟอกนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 6 คน ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-3 ก.ย.
แม้ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้ด้วยเสียงข้างมากในสภา แต่เสถียรภาพของรัฐบาลต้องสะเทือนอย่างหนักจาก “ศึกใน” ที่เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในหนหลัง เมื่อปรากฏกระแสข่าวมีขบวนการ “โหวตล้มนายกฯ” กลางสภา และแอบอ้างว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ
“การแอบอ้างเบื้องสูงถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้นที่ได้มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี” และ “การที่จะไปรวมคะแนนเสียงโหวต ซึ่งจริงหรือไม่จริง ผมไม่ทราบ แต่ถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ ถ้าทำแบบนั้น” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวเมื่อ 1 ก.ย. ปฏิเสธทุกข่าวลือที่เกิดขึ้น
แม้ผู้นำรัฐบาลไม่ได้เอ่ยชื่อผู้อยู่เบื้องหลังการเดินเกมบ่อนเซาะอำนาจของตัวเขามาตรง ๆ แต่ผู้สื่อข่าวได้นำข่าวความเคลื่อนไหวใต้ดินไปสอบถาม ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แล้วให้เขาตอบต่อสาธารณะ
“ผมไม่ได้ถูกใช้ให้มาล็อบบี้ใคร ไม่ว่าจะให้ช่วยรัฐบาล หรือไปรับรองพรรคอื่นให้มาช่วย หรือโหวตคว่ำใครคนใดคนหนึ่ง ผมไม่ทำ” ร.อ. ธรรมนัสกล่าววันเดียวกัน (1 ก.ย.) พร้อมระบุว่ามีคนในพรรคฝ่ายรัฐบาลซึ่งเขาเรียกว่า “ไอ้ห้อยไอ้โหน” เป็นคนเต้าข่าวชิ้นนี้ขึ้นมา
ท้ายที่สุด นายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 6 ก็ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมสภาให้ทำหน้าที่ต่อไป ทว่าที่น่าสังเกตคือ พล.อ. ประยุทธ์ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูงที่สุดในหมู่รัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปราย
- พลังประชารัฐ ร้าว แต่ยังไม่แตก ทางแยกของ ประยุทธ์-ประวิตร ในภาวะ “มังกรสองหัว”
- คำชี้แจงจากปากประยุทธ์-ธรรมนัส ท่ามกลางข่าวลือเขย่าเก้าอี้นายกฯ
- ธรรมนัส เปิดใจหลังถูกปลดพ้นรัฐมนตรีพร้อมนฤมล
- ทักษิณปัดจ่าย 2,000 ล้านให้ธรรมนัส “ล้มนายกฯ” ส่วนประวิตร-ธรรมนัสไม่ลาออกจากพรรค
ต่อมานายกฯ ได้สั่งปลด ร.อ. ธรรมนัส และ “คู่หู” ของเขาอย่างนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี แม้ก่อนหน้านั้น ผู้กองธรรมนัสจะเข้าพูดคุยและเอ่ยคำขอโทษนายกฯ แล้วก็ตาม แต่เรื่องไม่จบ
ในนาทีที่รู้ตัวว่าร่วงหล่นจากอำนาจฝ่ายบริหารแน่แล้ว เลขาธิการ พปชร. แก้เกี้ยวด้วยการเปิดแถลงข่าวเมื่อ 9 ก.ย. ว่าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทว่าเขาไม่อาจหลีกหนีข้อเท็จจริงเรื่องการถูกสั่งปลดไปได้ และยังบอกใบ้ด้วยว่า “อาจจะไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่มันมีความสุข” ทำให้มีการจับตามองว่าเลขาธิการ พปชร. จะแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่หรือไม่
แต่สุดท้ายด้วย “ประกาศิตบิ๊กป้อม” ทำให้ ร.อ. ธรรมนัสยังรั้งเก้าอี้พ่อบ้านพรรคแกนนำรัฐบาลต่อไป เช่นเดียวกับนางนฤมลที่ยังเป็นผู้กุมถุงเงินพรรคในฐานะเหรัญญิกพรรค โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค
ทว่าในระหว่างนี้ได้เกิดกระแสข่าวเขย่าความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. ดังขึ้นเป็นระยะ ๆ สะท้อนผ่านการจัด ส.ส. วัดพลังของ 2 ป. ประยุทธ์-ประวิตร ระหว่างลงพื้นที่พบปะประชาชน หรือการปล่อยข่าวแยกตัวไปทำพรรคใหม่ ก่อนที่สารพัดข้อมูลข่าวสารจะสงบลงชั่วคราวโดยที่ต่างฝ่ายต่างอยู่ในจุดของตัวเอง โดยที่ 3 ป. ก็ยังไม่มีวี่แววจะแตกคอกันตามแรงยุจากบุคคลภายนอก
เช่นเดียวกับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่แม้ทำทีฮึ่มฮั่มใส่ พล.อ. ประยุทธ์เป็นระยะ แต่ก็ไม่คิดตีจากไปไหน ทั้งในห้วงที่ดูเหมือนสถานการณ์ของรัฐบาลจะย่ำแย่ถึงขีดสุด เมื่อคนไทยล้มตายเป็นใบไม้ร่วงจากไวรัสโควิด-19 นับจากการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 จนเกิดวลี “เห็นน้ำตาประชาชนบ้างไหม”
หรือในยามที่พรรคร่วมฯ ถูกยึดอำนาจการบริหารจัดการวัคซีน ตัดงบประมาณของกระทรวงในกำกับดูแล จนต้องส่งลูกพรรคออกมาตัดพ้อ-บ่นน้อยใจ แต่ก็ไม่มี ส.ส. รัฐบาลรายใดโหวตคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้เงื่อนไขที่รู้กันดีในหมู่คนการเมืองซีกรัฐบาลว่า “ไม่มีสัญญาณเปลี่ยนตัวนายกฯ”
- ทวิดา กมลเวชช “เจ้าแม่ภัยพิบัติ” มองปรากฏการณ์ “ฟ้องรัฐบาล” ในวิกฤต
- ศึกชิงวัคซีน ศบค. เป็น “ผู้คุม” ส่วน สธ. เป็น “คนรับออเดอร์”
- ปชป.-ภท. เปิดเงื่อนไขไม่ทิ้งประยุทธ์ ท่ามกลางแรงกดดันให้ยุบสภา-ลาออก-ถอนตัว
สำหรับประเด็นเหนือความคาดหมายที่เกิดขึ้นกลางรัฐสภาในรอบปีที่ผ่านมา หนีไม่พ้นการผ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพียงประเด็นเดียวคือการรื้อระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับสัดส่วน ส.ส. ใหม่ เป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และคณะ เป็นเจ้าของร่าง และได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จึงฝ่าด่านรัฐสภามาได้ โดยถือเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงหนึ่งเดียวจากทั้งหมด 20 ร่าง ที่นักการเมืองและภาคประชาชนเคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วง 2 ปีผ่านมา แต่ฉบับอื่น ๆ ถูกตีตกไปต่างกรรมต่างวาระ
ผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย จนนักเลือกตั้งอาชีพหลายคนต้องดิ้นหาพรรคใหญ่เข้าสังกัด
ในศาล
จากจุดเริ่มต้นของรัฐบาลผสม 19 พรรค ซึ่งมี “เสียงปริ่มน้ำ” ในสภาหลังเลือกตั้ง 2562 ด้วยยอด ส.ส. 254 เสียง พรรครัฐบาลค่อย ๆ เก็บ-กวาด ส.ส. เข้าสังกัดทุกครั้งที่มีโอกาส จนปิดยอด ณ สิ้นปี 2564 ที่ 266 เสียง
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผลจากคำสั่งศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้เก้าอี้ผู้แทนฯ ว่างลง ซึ่งมีทั้งต้องเลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน และต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.แบบแบ่งเขต 3 เขตใน จ.ชุมพร สงขลา และ กทม. ช่วงต้นปีหน้า
กลุ่มที่ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี
-25 มี.ค. น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พปชร. ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
-18 ส.ค. น.ส. ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พปชร. ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกัน
-8 ก.ย. นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และนายภูมิศิษฎ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ฐานผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกัน
-2 พ.ย. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร., นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พปชร. ฐานทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล
กลุ่มที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.
-8 ธ.ค. 5 ส.ส. อดีตแกนนำ กปปส. ประกอบด้วย นายชุมพล จุลใส ส.ส. ชุมพร ปชป., นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป., นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ปชป., นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. พ้นจากตำแหน่ง หลังถูกคุมขังโดยหมายศาลในคดีกบฏ เมื่อเดือน ก.พ. 2564
-22 ธ.ค. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พปชร. พ้นจากตำแหน่ง เพราะขาดคุณสมบัติ หลังถูกจำคุกตามคำพิพากษาศาลถึงที่สุดในคดีฉ้อโกง เมื่อปี 2538
แต่สำหรับกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่รอดจากการตกเก้าอี้ผู้แทนฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังยุบเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค แล้วย้ายเข้าสังกัด พปชร. ได้กลายเป็นต้นแบบให้บรรดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ “พรรคจิ๋ว” เดินตามรอย “ไพบูลย์โมเดล” ได้อย่างสบายใจ ถึงขณะนี้มีอย่างน้อย 2 พรรคที่ประกาศยุบพรรคตัวเองแล้วย้ายมาซบ พปชร. คือ พรรคประชานิยม (ย้ายพรรคตั้งแต่ ก.ค. 2563) และพรรคประชาธรรมไทย (ย้ายพรรคเมื่อ พ.ย. 2564)
สำหรับ “พรรคจิ๋ว” หมายถึงพรรคเสียงเดียวที่ได้คะแนนเลือกตั้งปี 2562 ไม่ถึงเกณฑ์มี ส.ส. พึงมีได้ แต่ได้เข้าสภาเพราะการปัดเศษทศนิยม
นอกจากคำสั่งศาล ยังมีกรณี “ย้ายค่าย” ของ ส.ส. ฝ่ายค้านด้วย โดย 2 รายแรกถูกพรรคเพื่อไทย (พท.) ขับพ้นพรรคจากพฤติกรรมฝ่าฝืนมติพรรคหลายครั้ง ก่อนที่ น.ส. พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พท. จะย้ายไปสังกัด ภท. และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พท. ย้ายไปซบพรรคเพื่อชาติและได้ขึ้นแท่นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
ส่วนนายวินท์ สุธีรชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อเตรียมก่อตั้งพรรครวมไทยยูไนเต็ด
สัดส่วนเสียงในสภาล่างของรัฐบาล:ฝ่ายค้าน จึงเปลี่ยนไปอยู่ที่ 266:209 เสียง โดยรัฐบาลผสมเหลือ 17 พรรค ส่วนฝ่ายค้านมี 7 พรรค บวก 1 เสียงของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่
- ไพบูลย์ นิติตะวัน รอด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่ให้พ้นสภาพความเป็น ส.ส.
- ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง 5 อดีตแกนนำ กปปส. พ้น ส.ส. หลังถูกคุมขังโดยหมายศาลใน “คดีกบฏ”
- ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง สิระ เจนจาคะ พ้น ส.ส. เหตุต้องคดีฉ้อโกง
นอกสภา
ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาไม่คึกคักเท่าปี 2563 ทว่าได้เข้าสู่ภาวะไม่มีแกนนำชัดเจนขึ้น เมื่อนักกิจกรรมการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่น ๆ จากการร่วมชุมนุมทางการเมือง
ในระหว่างการต่อสู้คดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งมีจำเลยรวม 22 คน ในจำนวนนี้มี 7 คนที่ถูกตั้งข้อหา 112 และถูกคุมขังในเรือนจำ แม้ทีมทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์
- จุดเปลี่ยนและปรากฏการณ์ใหม่ในระหว่างการต่อสู้คดีชุมนุม 19 กันยาฯ ของ 7 แกนนำราษฎร
- ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชุมนุม 10 สิงหา 63 “ล้มล้างการปกครอง” ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ทะลุแก๊ส : สุรชาติ บำรุงสุข ชวนพินิจ “ม็อบโควิด” ที่ดินแดง ไร้แกนนำ ไร้จุดจบ
หลังถูกคุมขังนานตั้งแต่ 2-3 เดือน (ก.พ.-มิ.ย.) แกนนำราษฎรชุดนี้ทยอยได้รับการประกันตัว หลังจากพวกเขาแถลงยอมรับเงื่อนไข “ไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
ก่อนที่ 4 คน ประกอบด้วย อานนท์, เพนกวิน, ไผ่ และไมค์ ต้องกลับไปกินอยู่หลับนอนภายในเรือนจำอีกครั้งเมื่อเดือน ส.ค. ในระหว่างต่อสู้คดีชุมนุมการเมืองคดีอื่น ๆ แล้วศาลมีคำสั่งถอนประกัน โดยให้เหตุผลว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาก่อนหน้านั้น และไม่ได้รับการประกันตัวหลังผ่านมา 5 เดือน หมดโอกาสร่วมฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัว
นอกจากแกนนำราษฎรชุดนี้ ยังมีแนวร่วมราษฎรตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลย คดี 112 และต้องสูญเสียอิสรภาพในระหว่างการต่อสู้คดี ซ้ำบางส่วนยังกลายเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ โดยปรากฏชื่อนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือที่รู้จักในนาม “จัสติน” ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นผู้ป่วยยืนยันรายแรกตามการเปิดเผยของกรมราชทัณฑ์เมื่อ 24 เม.ย.
เมื่อแกนนำหลักหายไป จึงมีแนวร่วมออกมาเคลื่อนไหวซึ่งมีทั้งกลุ่มเก่า-กลุ่มใหม่ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันบางส่วน อาทิ ให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรที่ถูกจับกุมคุมขัง, แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยกระดับมาตรการรับมือกับผู้ชุมนุมการเมือง โดยเปิดฉากยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก เพื่อควบคุมการชุมนุมของกลุ่มที่ชื่อว่า “รีเด็ม” (REDEM – Restart Democracy) ที่ท้องสนามหลวง เมื่อ 20 มี.ค. และหลังจากนั้นก็เกิดภาพผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) อยู่เนือง ๆ
ภาพจำสำคัญเกิดขึ้นที่แยกดินแดง ไม่ห่างจากบ้านพักของนายกรัฐมนตรีภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อผู้ประท้วงไปรวมตัวกันที่นั่นในช่วงเย็นแทบทุกวัน ไร้แกนนำ ไร้การปราศรัย ไร้กิจกรรมที่ชัดเจน และมักจบลงด้วยการถูก คฝ. สลายการชุมนุมด้วยน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการล้อมจับ เป็นผลให้ถูกขนานนามว่ากลุ่ม “ทะลุแก๊ส/แก๊ซ” ขณะที่ตำรวจยืนยันหลายครั้งว่าจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ “ไม่ใช่ม็อบ” แต่เป็น “ผู้ใช้ความรุนแรง” และ “ผู้ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
นอกจากขบวนการเยาวชน ในปี 2564 ยังเป็นปีที่อดีตแกนนำ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) ออกหน้า-นัดหมายจัดการชุมนุมด้วยตัวเอง
กลุ่มแรก เกิดขึ้นจากการนัดหมายของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่นัดจัดชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน” ร่วมกับแกนนำคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี โดยมีจุดประสงค์เพียงข้อเดียวคือ ขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นกิจกรรมที่ลดระดับข้อเรียกร้องของขบวนการ “ราษฎร” ที่ไปไกลถึงขั้นเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
อีกกลุ่ม เกิดขึ้นจากการนัดหมายของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตเลขาธิการ นปช. ที่ร่วมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” เคลื่อนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และผู้คนไปตามถนนสายต่าง ๆ เพื่อแสดงพลังขับไล่เผด็จการ
อย่างไรก็ตามการหวนกลับมาเรียกระดมพลคนเสื้อแดงของ 2 แกนนำ นปช. ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จนักหากเทียบกับประสบการณ์ในอดีต ทั้งในเชิงเป้าหมาย และปริมาณมวลชนที่เข้าร่วม
ท้ายที่สุดปรากฏการณ์ “ทะลุเพดาน” ที่อุบัติขึ้นเมื่อ 10 ส.ค. 2563 บนเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ มธ. ศูนย์รังสิต คล้ายกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 10 พ.ย. 2564 ว่าการชุมนุมดังกล่าว ที่มีนายอานนท์, นายภาณุพงศ์ และ น.ส. ปนัสยา เป็นผู้ปราศรัย เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ กระทบต่อสถานะของสถาบันฯ
ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ทั้ง 3 คน และกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
…………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว