สรยุทธ ตอบกลับ หมอโพสต์จวก ละเอียดยิบ! ฟาดเบาๆ "เหมือนจะมีปัญหากับน้ำตาผมมาก"

Home » สรยุทธ ตอบกลับ หมอโพสต์จวก ละเอียดยิบ! ฟาดเบาๆ "เหมือนจะมีปัญหากับน้ำตาผมมาก"
สรยุทธ ตอบกลับ หมอโพสต์จวก ละเอียดยิบ! ฟาดเบาๆ "เหมือนจะมีปัญหากับน้ำตาผมมาก"

“สรยุทธ” ตอบทุกข้อสงสัย หลังถูก “หมอ” โพสต์จวก ถามเป็นอะไรถึงกล่าวหาคนอื่นง่ายๆ ยืนยันไม่เคยขอยา “ฟาวิพิราเวียร์” มาแจกคนไข้หนักเอง

จากกรณี พญ.นงนลินี จัยสิน แพทย์ชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานีโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก พาดพิง สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดัง

ล่าสุด สรยุทธ ออกมาโพสต์ชี้แจง ผ่านทางเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ในช่วงกลางดึกของเมื่อคืนที่ผ่านมา ระบุว่า

“ตอบ คุณหมอ นงนลินี ครับ 

ผมไม่เคยประสานผู้บริหาร สปสช. กรมการแพทย์ เพื่ออยากเอายา (ยาฟาวิพิราเวียร์) มาแจกคนไข้หนักเสียเอง นะครับ

คุณหมอเป็นอะไรครับ ถึงได้กล่าวหาคนอื่นง่ายๆ แบบนั้น

คุณหมอบอกว่า “คุณเห็นแค่ปลายทางที่คนไข้หนัก คุณร้องไห้ คุณประสานผู้บริหาร สปสช. กรมการแพทย์ที่อยากเอายามาแจกคนไข้หนักเสียเอง

โชคดีบังเอิญที่ดิฉันได้รับรู้ควาพยายามอันนี้ จึงพยายามโพสต์ พยายามโทรเข้ากรมการแพทย์ เพื่อมิให้พวกคุณนำยานำออกซิเจนมาแจกเสียเอง เพราะอะไร?

เพราะคนเหนื่อยไม่ต้องการแค่ยา ไม่ต้องการออกซิเจน ต้องการการประเมินดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องการยาลดการอักเสบที่ใช้ฉีดเอา มิได้กินเอา

ถ้ารักษาคนไข้หนักกันเอาเอง เราก็จะเหมือนอังกฤษ ที่ช่วงนึงคนตายเยอะมากเพราะแจกยาต้านไวรัสและสเตียรอยด์ ผลที่ตามมาคือได้พันธุ์ไวรัสเป็นของตัวเอง”

ย้ำนะครับ ผมไม่เคยแม้แต่จะคิดว่า จะเอายามาแจกผู้ป่วยเสียเอง เพราะผมไม่ใช่หมอ

ที่เคยพูดคุย (อย่างเปิดเผยผ่าน live) กับเลขาธิการ สปสช. ก็คือการถามถึงนโยบาย home isolation เพื่อผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวกักตัวเองอยู่บ้าน โดยจะมีระบบดูแล และส่งของจำเป็นไปให้อย่างไร ผมก็เพียงถามว่าถ้าผู้ติดเชื้ออยากได้ยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์” จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร คำตอบก็เป็นนโยบายของ สปสช. ว่าสามารถให้ได้อย่างไร

ส่วนตัวผม ตั้งแต่วันที่คุยกับ เลขาฯ สปสช.ในวันนั้น (ซึ่งไม่ใช่การกลับลำ อย่างที่คุณหมอมาขอบคุณผมในเวลาต่อมา) คือ ผู้ป่วยสีเขียวให้อยู่ home หรือ community isolation เพื่อจะสงวนเตียงใน รพ. และหมอพยาบาล ไว้ช่วย ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ไม่อย่างนั้น เราจะสูญเสียกันอีกมาก ถ้าผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ตกค้างตามบ้าน ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หลักฐานก็เป็นบันทึกที่อยู่ในเพจนี้ครับ

ส่วนกรมการแพทย์ ผมไม่เคยพูดคุย แม้กระทั่งวันที่พบอธิบดีกรมการแพทย์ ในวันพบสื่อ ผมก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้

ส่วนที่ผมเคยโพสต์และพูดเรื่อง “ยาฟาวิพิราเวียร์” ไปรายการคือ “คิดเองว่า ถ้าตรวจ แอนติเจน เทสต์ แล้ว ผลเป็นบวก ควรได้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ง่ายกว่านี้? ในภาวะ “ฉุกเฉิน” แล้ว กว่าจะต้องรอเข้าตรวจ RT-PCR กว่าจะได้ตรวจ กว่าจะยืนยันผล กว่าจะเข้าระบบ แล้วถึงจะได้รับการพิจารณาให้ยาฟาวิฯ มันจะช้าไป จากสีเขียว จนกลายเป็นสีเหลือง เป็นสีแดง ไปก่อนหรือเปล่า

สายพันธ์เดลตา อาการรุนแรงใน 3-5 วัน เร็วกว่า สายพันธุ์อัลฟา ที่ 7-10 วัน อยากขอความรู้จากแพทย์จริงๆ ครับ” หลักฐานก็อยู่ในเพจ และในคลิปรายการ

ผมขอเอายา “ฟาวิพิราเวียร์” มาแจกเองตรงไหนครับ

ผมเพียงตั้งข้อสังเกตถึงระบบเมื่อให้ตรวจ ATK แล้วยังไงต่อ กว่าจะเข้าระบบได้ต้องผ่านอะไร และกว่าจะเข้าถึงยา “ฟาวิพิราเวียร์” มันจะช้าไปหรือไม่ กับความฉุกเฉินที่เป็นอยู่ ผมแค่ขอความรู้

ไม่เคยกดดันให้แจก และไม่เคยไปขอมาแจกเอง

คุณหมอบอกด้วยว่า

“แต่ถึงอย่างไรขอบคุณคุณสรยุทธคุณได้ ที่กลับลำ ไม่สร้างความลำบากใจให้แพทย์ที่อยู่ด่านหน้า ด้วยการดื้อดึงที่จะหายาfaviและสเตียรอยด์มาแจกเอง เห็นตัวอย่างประเทศที่ทอดทิ้งคนไข้แจกยากินเองแม้ในคนไข้หนักไหมคะ?

ทั้งอังกฤษ ทั้งอินเดีย ทั้งอเมริกา เขามีสายพันธุ์เป็นของตัวเอง”

นี่คุณหมอก็เอามาจากไหนอีก หนึ่งผมไม่ได้กลับลำ เพราะไม่ได้ทำมาแต่ต้น และ สอง “สเตียรอยด์” คุณหมอจินตนาการเอาเองจากไหนครับ

ผมทำข่าว ผมรู้เรื่องการใช้สเตียรอยด์ในอินเดียดึว่าเกิดผลอะไร และในรายการ หรือในเพจ ผมก็ไม่เคยพูดถึงและไม่เคยคิด แต่คุณหมอบอกผมดื้อที่จะแจกสเตียรอยด์

น่าผิดหวัง ทำไมเลือกจะกล่าวหาคนอื่นง่ายๆ แบบนี้

แต่ถ้าถามแจกออกซิเจนมั้ย สำหรับผม แจกครับ เพื่อจะประคับประคองอาการ หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้ผู้ป่วยโควิดต้องทุกข์ทรมานจนเกินไป ระหว่างรอเวลา รอเตียง รอหมอ

คุณหมอบอกว่า “เพราะคนเหนื่อยไม่ต้องการแค่ยา ไม่ต้องการออกซิเจน ต้องการการประเมินดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องการยาลดการอักเสบที่ใช้ฉีดเอา มิได้กินเอา”

ผมถามคุณหมอว่า เมื่อเราไม่มีหมอมาประเมินดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะหมอไม่พอ (ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปต่อว่าใคร) เราต้องยอมจำนนให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมาน รอความตายไปอย่างนั้นใช่มั้ยครับ

ให้ออกซิเจนไม่ได้ หรือช่วยเหลือเฉพาะหน้าอะไรไม่ได้ ให้อะไรก็ไม่ได้ เพราะต้องให้หมอมาประเมินดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

อย่าผูกขาดการช่วยเหลือผู้ป่วยไว้แค่หมอเลยครับ

ผมเชื่อว่า เหล่าจิตอาสา หรือ สื่ออย่างผม ไม่มีใครกล้าล้ำเส้นไปให้อะไรที่ไม่ได้ผ่านการปรึกษาหารือเบื้องต้นกับหมอหรอกครับ เพราะมันคือเรื่องของชีวิต ไม่มีใครเสี่ยงทำอะไรไปเอง เพียงแต่ไม่ใช่ปรึกษาคุณหมอนงนลินีเท่านั้น

คุณหมอบอกว่า “ทำไมคุณเป็นนักข่าวไม่ไปเจาะลึกว่าคนไข้ในรพ.สนามแต่ละวันรับคนไข้กลุ่มไหน

รับมาแล้วต้องอยู่ถึง14วัน”

ขอโทษนะครับ ข่าวนี้ไม่ต้องเจาะลึก ใครก็รู้ว่า รับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว นี่นโยบายกระทรวงสาธารณสุขนะครับ

แต่ที่ผมพยายามทำโดยไม่ต้องเจาะข่าวด้วย คือ ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ยังอยู่ตามบ้าน นอนทนทุกข์ทรมาน รอความช่วยเหลืออยู่มากมาย ซึ่งดูเหมือนคุณหมอจะพยายามบอกผมว่า อย่ายุ่ง

คุณหมอบอกอีก “เราควรจะได้นักข่าวที่ช่วยรพ.สนามเต็มที่ เราควรจะได้นักข่าวที่เป็นกระบอกเสียงแทน และกดดันรพ.สนามให้รับคนไข้หนักมากกว่าคนไข้ครองเตียงเพื่อประกัน”

คุณหมอย้อนไปดูในเพจ หรือคลิปรายการก็ได้ ผมไม่ได้ทำจริงๆ หรือครับ

นี่ก็อีก “เราควรจะได้ดาราที่ช่วยกันบริจาคเพื่อรพ.หรือเพื่อปชช.ที่ตกงาน หรืออย่างน้อยแรงจิตอาสาก็ยังดี ในการช่วยดูแลคนไข้สีเขียวแบ่งเบาภาระสาธารณสุข ดาราเป็นจิตอาสาความเป็นบุคคลสาธารณะทำให้คนฮึกเหิมอยากอาสามากขึ้น”

คุณหมอไปอยู่ไหนมาครับ คุณหมอพร่ำพรรณา ประมาณว่า ไม่อยากให้เอาการเมืองมาเกี่ยว เป็นต้นว่า “อยากจะบอกว่าเราจะไม่มีวันมาถึงจุดนี้เลย ถ้าเราไม่อคติต่อกัน เอาเรื่องการเมืองนำ”

อ่านแล้วรู้สึกว่า คุณหมอเองมุ่งมั่นกับการเมืองหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ก็ขออภัย และดูเหมือนคุณหมอ จะมีปัญหากับน้ำตาของผมมาก ผมขออภัยครับที่น้ำตาของผมจะทำให้คุณหมอไม่สบายใจ

ที่ผ่านมา หลายกรณีที่เกิดขึ้นกับเคสรอตรวจ รอเตียง รอเข้าระบบ จนหลายคนอาการหนัก จนหลายคนเสียชีวิต เพราะถูกปฏิเสธ สังเกตดูได้ว่า ผมไม่เคยต่อว่าหมอและบุคลากรทางการแพทย์แบบเจาะจง เล่าเรื่องราวแล้วก็ผ่านไป เพราะรู้ว่า ทุกคนทำงานหนัก และมันเป็นปัญหาที่ “ระบบ” ไม่ใช่ตัวบุคคลที่แบกภาระมามากเกินจะรับไหวแล้ว

วันนี้ ผมเสียใจที่ต้องเจาะจงถึงคุณหมอ นงนลินี เพื่อตอบคำถามของคุณหมอนงนลินีเองนะครับ

เป็นกำลังใจให้ทำหน้าที่ “หมอ” นะครับ” 

  • สรยุทธ ตอบฟาด! หลังเจอถามเคยคิดจะเสนอข่าวให้กำลังใจไหม หรือมีแต่ช้ำเติมให้หดหู่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ