สมปอง ไพรวัลย์ ยืนยันไม่ได้ปกป้อง ‘หมอปลา’ ผิดก็ว่าไปตามผิด ชี้องค์กรศาสนาต้องเข้มแข็ง แก้ไขปัญหาให้รวดเร็ว จึงจะเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านได้
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2565 นายไพรวัลย์ วรรณบุตร และนายสมปอง นครไธสง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังจากพาหมอปลาและทีมกล่าวขอขมาหลวงปู่แสง โดยนายไพรวัลย์ กล่าวว่า ตนไม่ใช่ตัวกลาง แต่มองว่าการขอขมาคืออารยะวิธีที่สังคมพุทธใช้กันทั่วไป
ตนจึงให้หมอปลาและทีมงานได้กราบขอขมา เพราะว่าตัวของทุกคนก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ใจ เมื่อสิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกสังคมมองว่าไม่เหมาะสม ก็แสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการขอขมา ตนไม่ได้ต้องการให้หมอปลาทำเพื่อลดกระแส แต่คิดว่าทำในฐานะที่ผิดพลาดและยอมรับว่าสิ่งที่ทำลงไปมีข้อผิดพลาดจริง ส่วนสังคมและลูกศิษย์ของหลวงปู่จะให้อภัยหรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไปก็เป็นสิทธิ์ของเขา
ตนเคยเสนอไปว่าถ้าหากไม่อยากให้หมอปลาทำอะไรแบบนี้ “องค์กรทางศาสนาต้องเข้มแข็ง เวลาชาวบ้านเห็นความไม่ชอบมาพากลในศาสนา เขาก็จะไปร้องเรียนองค์กรของคุณได้ หากเกิดเรื่องอะไรแล้วมาทำภายหลังมันก็ไม่ทัน จึงไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้ ตนคิดว่าต้องทำงานรวดเร็ว ทันต่อปัญหาที่เกิดไม่ใช่เงียบหรือทำงานตามหลัง”
หากสังคมจะประณามการกระทำของหมอปลาก็สามารถทำได้แต่ต้องไม่ลืมปัญหาใหญ่ ๆ ใน 2 ปัญหาที่มันเกิดขึ้น คือเรื่องการใช้งานพระผู้ใหญ่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายกรณีแล้ว และเรื่องเงินต้องตามไปจัดการคณะสงฆ์ ว่าตกลงเงินมีกี่ล้าน
จะจัดการยังไงในกรณีที่หลวงปู่เป็นผู้ไร้ความสามารถ ไม่สามารถจัดการปัจจัยที่มีญาติโยมมาถวายได้ ทำอย่างไร ให้เงินก้อนนั้นตกมาเป็นศาสนาสมบัติส่วนกลางนำไปใช้สอยเพื่อการพระศาสนาแบบที่หลวงปู่ในสมัยที่ท่านยังรู้สึกตัวต้องการจะให้เป็น เรื่องนี้ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน
ส่วนในหลักของพระพุทธศาสนา การกระทำของหมอปลาถือว่าบาปหรือไม่นั้น ศาสนาพุทธไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็บาป แต่ศาสนาพุทธจะใช้คำว่า “โทษล่วงเกิน” ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ทำต่อกัน พระเองก็อาจจะทำอะไรเป็นโทษล่วงเกินต่อฆราวาสได้ เมื่อหากทำอะไรผิดแล้ว ก็มีเปิดโอกาสการขอโทษกัน
“ทั้งนี้ตนไม่ได้ปกป้องหมอปลา เขาทำไม่ดี ตนก็ต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นหมอปลาไม่ได้รั้น ผิดก็นำมาปรับปรุงแก้ไข”
ด้านนายสมปอง กล่าวว่า การให้ที่ไม่เสียอะไรเลยคือการให้อภัย ซึ่งตนก็ได้พูดคุยกับหมอปลาและทีมงานแล้ว เมื่อรู้ว่าผิดพลาดตรงไหนเราก็สามารถขอโทษได้อย่างกล้าหาญ ตนมองว่าสังคมให้อภัยได้ ต้นมองว่าการจัดการอะไรต่าง ๆ เป็นเรื่องดี
แต่อยากเสนอหมอปลาและทีมงานว่าถ้าหากเรามีการจัดสรรให้ดีกว่าการที่ ชาวบ้านในจังหวัดนั้น ๆ จะกลัวว่าถ้าหากหมอปลาไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จึงมองว่าถ้าหากมีการจัดสรรที่ดี ก็จะเป็นอะไรที่สวยงาม
กรณีของลูกศิษย์รอบตัวหลวงปู่มองว่าเหมือนเป็นการสอบตก การได้ดูแลหลวงปู่หรือพระอาจารย์ ควรจะมีการสอบหรือดูความเหมาะสมว่าสามารถทำได้หรือไม่ จะได้มีมาตรฐานเดียวกันเพราะมันมีผลต่อการศรัทธาของญาติโยม