“สมชัย” ห่วง ส.ว. ไม่ร่วมประชุม ทำให้เสียงหนุนตัดอำนาจส.ว.ไม่พอ ขอสภาเป็นเวทีถกเถียงจริงจัง เรียกร้องฟังเหตุผล แทนโหวตตามใบสั่ง
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีรัฐสภานัดประชุมวันที่ 6-7 ก.ย. เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระแรก ว่า ตนเชื่อว่าส.ส. จะสนับสนุนการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว แต่ส.ว.นั้นยังประเมินได้ยาก เพราะเชื่อว่าส.ว. ต้องพิจารณาตามสัญญาณที่ผู้ใหญ่ส่งมา ส่วนกรณีที่มีส.ว.บางรายออกมายืนยันว่า จะไม่ยอมให้แก้ไขมาตราดังกล่าวนั้น แต่การชี้ขาดหรือตัดสินใจต้องสู้กันในในประชุมฯ ผ่านการอภิปรายชี้แจงเหตุผลอีกครั้ง
เมื่อถามกรณีที่ส.ว.ไม่ต้องการให้แก้ไข เพราะอำนาจดังกล่าวเหลืออีกไม่กี่ปีจะหมดไปตามเวลาของบทเฉพาะกาล นายสมชัย กล่าวว่า เวลาเป็นของมีค่า หากใช้เวลาให้หมดไป โดยไม่เกิดประโยชน์การเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ส.ว. ต้องมีความกล้า คือ โหวตรับ หรือไม่รับ ไม่ใช่งดออกเสียงหรือไม่มาประชุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
“การเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโละอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ มีหลายครั้งแล้ว และได้คะแนนแตกต่างกัน ผมจำได้ว่าส.ว.ที่โหวตเห็นด้วยสูงสุด คือ 56 คน แต่หลายครั้งที่ผ่านมา มีการเสนอแก้ไขหลายประเด็นในร่างเดียวทำให้ไม่ผ่าน แต่รอบนี้เสนอแก้ไขเพียงประเด็นเดียว จึงยังประมาณไม่ถูกว่าจะได้คะแนนมากขึ้นหรือไม่ หรือส.ว.คิดอย่างไร ส่วนที่เห็นด้วยจะมีมากแค่ไหนไม่รู้ ปัญหาของส.ว.ตอนนี้ คือ ไม่มาประชุม ที่ผ่านมามีส.ว.มาประชุมเฉลี่ย 150 คนจากจำนวนทั้งหมด 250 คน เมื่อไม่มาประชุมเสียงจะหายไป” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า การพิจารณาประเด็นดังกล่าวขอให้รัฐสภาเป็นเวทีถกเถียงจริงจัง ฟังเหตุผลแต่ละฝ่าย ไม่ใช่ยกมือตามกันหรือตามคำสั่งของวิปแต่ละฝ่ายที่ไม่รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือยกมือตามสิ่งที่นัดหมายไว้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ตนอยากเห็นสภาไทยเอาเหตุผลคุยกัน หากไม่แก้ไขต้องแสดงเหตุผล ฝ่ายที่จำเป็นต้องแก้ไข ต้องแสดงเหตุผลซึ่งกันและกัน ผลเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ห้องประชุมไม่ฟัง อยู่กันไม่กี่คน ไม่ถกเถียงกันเท่าที่ควร สะท้อนว่า สภาฯ ไม่ได้เปนความหวังแก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายสมชัยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กให้จับตาการลงมติของส.ว. และส.ส. เพราะการลงมติครั้งนี้มีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ 1.ส.ว. มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ฝักใฝ่ หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด
2.การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาว่า ส.ว. จะลงมติให้ใคร หรือควรจับมือกับพรรคการเมืองใดที่ ส.ว. มีแนวโน้มสนับสนุน และ 3.เป็นการนำประเทศไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบสากล และเป็นการเสริมสร้างเกียรติภูมิของวุฒิสภา