ชวน หารือ 3 วิป เคาะ 10 ส.ค. ถก กม.เลือกตั้งส.ส. ชินวรณ์ ย้ำจุดยืนปชป.ยึดตาม รธน.ฉบับแก้ไข-ปาร์ลิสต์หาร 100 ชี้รัฐสภาล่มไม่ผิด ชัดเจนทำแท้งหาร 500 เลยกรอบ 180 วัน
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 4 ส.ค.2565 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย คือ วิปฝ่ายรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ที่ชั้น 2 หลังบัลลังก์ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร
โดยมีตัวแทนจากทั้ง 3 ฝ่ายเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปรัฐบาล นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปพรรคก้าวไกล นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา
โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ในวันที่ 10 ส.ค เวลา 09.00 น. จะกำหนดให้ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระที่ค้างอยู่ คือร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ที่เหลืออยู่ 4 มาตรา จากนั้นพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังกำหนดให้วันที่ 11 ส.ค. ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวันที่ 17-19 ส.ค. ประชุมสภา เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวาระ 2-3 ต่อไป
ด้านนายชินวรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในเรื่องร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งกระบวนการเป็นไปตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ โดยมีทางออก 3 ทาง คือ 1.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 2-3 จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (2) คือประธานรัฐสภา ส่งร่างกฎหมายไปที่องค์กรอิสระ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นชอบว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
2.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็ถือว่าร่างกฎหมายนี้ตกไป หากจะหยิบยกขึ้นใหม่ ต้องเริ่มกระบวนการกันใหม่ และ 3.ถ้าที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 180 วัน ต้องเป็นไปตาม มาตรา 132 (1) คือนำร่างที่เสนอในวาระ 1 มาพิจารณาเพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ คือร่างของกกต. ที่ให้ใช้สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 และส่งให้นายกฯ ต่อไป
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยยอมรับว่าจะใช้กลไกดึงเวลาให้เกิน 180 วัน ปชป. มีแนวทางนี้หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นต่างกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยกับหาร 100 เห็นว่าควรให้เป็นไปตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ ส่วนเสียงข้างน้อยในกมธ. เห็นว่าควรหาร 500 เมื่อนำมาเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่ประชุมก็เห็นด้วยกับเสียงข้างน้อยไปด้วย ขณะที่อีกส่วนเห็นว่า การที่จะไม่ให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมาย อาจมีปัญหาในเชิงปฏิบัติได้
จึงมีทางเดียวคือ ถ้าทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพิจารณาไม่ทัน 180 วัน จะถือว่าต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือการนำร่างที่ครม. เสนอเข้ามา คือหาร 100
ส่วน ปชป. มีจุดยืนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เนื่องจากเราเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐสภามีความเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ
ต่อข้อถามว่ามีความพยายามจะทำให้รัฐสภาล่มอีกหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ถ้าเขามีทิศทางให้เสร็จไม่ทัน 180 วัน รัฐสภาอาจล่มอีกได้ ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นกลไกที่ทำได้ จึงอยากทำความเข้าใจว่าเวลาพิจารณากฎหมาย อยากให้เป็นไปตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่อยากให้ประชาชนวิจารณ์ว่ารัฐสภามุ่งเน้นแต่เรื่องหาร 100 หรือหาร 500 ทั้งที่ประชาชนมีปัญหาปากท้อง ตนยืนยันในฐานะส.ส. ให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่อง 1 ใน 100 ที่รัฐสภาต้องแก้ไขให้เกิดดุลยภาพ