สภาผู้บริโภค จี้ "ประกันสังคม" ปรับสิทธิทันตกรรม เท่าบัตรทอง เบิกจ่ายตามจริง

Home » สภาผู้บริโภค จี้ "ประกันสังคม" ปรับสิทธิทันตกรรม เท่าบัตรทอง เบิกจ่ายตามจริง



สภาผู้บริโภค จี้ “ประกันสังคม” ปรับสิทธิทันตกรรม เท่าบัตรทอง ยกเลิกเบิกจ่ายค่ารักษาไม่เกิน 900 บาทต่อปี เป็นเบิกจ่ายตามอัตรารักษาจริง

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เรียกร้องให้ สปส.ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสุขภาพในช่องปาก ให้เท่าเทียมกับระบบบัตรทอง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันผู้ประกันได้รับสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม กรณีรักษาพยาบาลสุขภาพช่องปาก น้อยกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และหลักประกันสุขภาพฯ มีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาทันตกรรมอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี

สำหรับข้อเสนอที่สภาองค์กรของผู้บริโภค มีต่อ สปส. คือ 1.ขอให้ สปส.ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของผู้ประกันตน เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค กรณีสิทธิการรักษาพยาบาลสุขภาพในช่องปากให้เทียบเท่าสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ อย่างเร่งด่วน เบิกจ่ายตามอัตราที่จ่ายในการรักษาจริง (Fee of service) แทนการกำหนดค่าใช้จ่ายอัตราไม่เกิน 900 บาทต่อปี และ 2.ขอให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 11 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีที่ สปส. ไม่สามารถขยายสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้แก่ผู้ประกันตนได้ ด้วยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาให้สิทธิกับผู้ประกันตน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ ส่วนมาตรา 11 คือ ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนผู้ใดใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อใดแล้ว ให้หน่วยบริการแจ้งการเข้ารับบริการนั้นต่อสำนักงานและให้สำนักงานมีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนเงินทดแทน แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการต่อไป

ในกรณีที่ผู้เข้ารับการบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้เป็นลูกจ้างของนายจ้าง ที่ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ใหำสำนักงานมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน แทนลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนเพื่อชำระค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งต่อให้หน่วยบริการต่อไป สำหรับการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามมาตรฐาน ให้ถือเป็นการจ่ายเงินทดแทนในส่วนของค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ