สภาที่สาม ชำแหละที่ดินเขากระโดง ศาลฎีกา-ปปช.ตัดสินแล้วเป็นของรฟท.

Home » สภาที่สาม ชำแหละที่ดินเขากระโดง ศาลฎีกา-ปปช.ตัดสินแล้วเป็นของรฟท.



“สภาที่สาม” ชำแหละที่ดินเขากระโดง ย้ำที่ดินพระราชทานเป็นของรัฐแต่ถูกบุกรุก ศาลฎีกา-ปปช.ตัดสินแล้วเป็นของรฟท. จี้ เร่งฟ้องกรมที่ดิน พร้อมยึดคืนมา ก่อนปล่อยเช่าถูกต้องตามกฎหมาย ด้าน “วีระ” เชื่อ อิทธิพลบ้านใหญ่บุรีรัมย์ เป็นฝ่ายรัฐบาล ทำข้าราชการล่าช้า

17 มี.ค. 66 – สภาที่สาม ร่วมกับ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเวที “สภาที่สาม – The Third Council Speaks” ผ่านเพจเฟซบุ๊กไลฟ์ “สภาที่สาม – The Third Council Speaks”

หัวข้อ “โกงที่ดินการรถไฟเขากระโดง เมื่อไหร่รัฐจะได้คืน” โดยมีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น และนายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ ร่วมอภิปราย และดำเนินรายการโดย นายอินทร์ แย้มบริบูรณ์

นายอดุลย์ กล่าวว่า สภาที่สามได้จัดวาระ ทวงคืนสมบัติชาติ ตั้งแต่ปี 2564 มีหลายเรื่องจำเป็นต้องทวงคืน โดยเฉพาะกรณีเขากระโดงที่ได้มีการอธิบายให้ประชาชนทราบว่า ทำไมต้องเอาเรื่องที่ดินเขากระโดงกลับมาเป็นของแผ่นดิน แต่ที่ผ่านมามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยื้อจนปัจจุบันนี้ยังไม่ทำอะไร

กระทั่งเรื่องนี้เป็นข่าวอีกครั้งเมื่อนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองจอมแฉ ออกมาเปิดเผยอีกครั้ง ถือว่า นับแต่ปี 2564 ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจหรือผู้ว่าการรถไฟ แห่งประเทศ (รฟท.) ไม่ทราบว่าใช้อำนาจ และเทคนิคกฎหมายอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะที่ดินเป็นของรัฐต้องคืนให้รัฐ

ด้าน นายสุวิช กล่าวว่า ร.6 พระราชทานที่ดินให้รฟท.ในปี 2464 กระทั่งออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดวางรางรถไฟและทางหลวง ถือเป็นของการรถไฟโดยสมบูรณ์ เขากระโดงมีหินแกรนิตดีที่สุดในการทำรางรถไฟ ต่อมามีผู้บุกรุกโดยเฉพาะนักการเมือง กรณีเขากระโดงก็มีฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง ออกมาอ้างว่า ผู้บุกรุกได้ที่ดินมาครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย

จึงเชื่อว่าเป็นความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะศาลได้ตัดสินแล้วว่า ที่ดิน 5 พันไร่ที่เขากระโดงเป็นพื้นที่ของการรถไฟฯ ทั้งหมด รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ก็ชี้ขาดแล้วว่า เป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่มีการใช้การเมืองเบี่ยงเบนเพื่อฮุบที่ดินไปเป็นของตัวเอง

ขณะที่ นายวีระ กล่าวว่า ที่ดินเขากระโดงจึงเป็นของรัฐ เป็นของประชาชนทั้งประเทศ ที่ให้การรถไฟฯเช่าทำโรงโม่ เพื่อนำหินมาใช้สร้างทางรถไฟ แม้มีผู้เกี่ยวข้องในกรมที่ดินที่ระบุว่าเป็นผู้ออกโฉนด 170 ไร่ให้ชาวบ้านโดยชอบ และขั้นตอนการรังวัดมีเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ เป็นผู้ชี้แนวให้จึงถือว่ายอมรับ และออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้าน ก

ระทั่งมีการนำคดีฟ้องศาลจำนวน 35 ราย ทราบว่ามีเจ้าพ่อบุรีรัมย์หนุนหลังให้ชาวบ้านฟ้องร้องภาครัฐ ก่อนศาลฎีกาพิพากษาให้การรถไฟฯชนะคดี และให้กรมที่ดินไปเพิกถอน 4 แปลง แต่กรมที่ดินไม่ยอมดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่า เป็นเพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล และแม้ศาลฎีกาตัดสินแล้ว แต่ฝ่ายผู้บุกรุกที่ดินรัฐดังกล่าว ยังนำเรื่องไปยื่นศาลปกครอง เชื่อว่าเป็นเพราะมีผู้มีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง

“ต้องเข้าใจว่าบุรีรัมย์ใครคุม ตอนร่วมรัฐบาลมีพรรคไหนบ้าง ถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่บุรีรัมย์กล้าออกโฉนด ความจริงประเทศไทยผู้มีอำนาจสั่งได้หมดทุกหน่วยงาน” นายวีระ กล่าว

นายวีระ เสนอแนวทางแก้ปัญหาว่าให้แนวทางแบบกรณีทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหลายๆ กรณีที่รัฐบาลทำ คือ ยึดที่ดินคืนมาเป็นที่การรถไฟฯ หากจะพัฒนาพื้นที่ด้วยการปล่อยเช่าก็กำหนดเกณฑ์สำหรับปล่อยเช่าทำธุรกิจ ด้วยอัตราค่าเช่าที่เเพงกับปล่อยเช่าเพื่อเกษตรกรรมในราคาถูกให้ชัดเจน และเรียกร้องให้การรถไฟฯ ฟ้องร้องเอาผิดกับกรมที่ดิน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ