สธ.เผย 8 จังหวัดพบไวรัสโควิดกลายพันธุ์ 4 ตัว! เป็นลูกหลานของเดลตาที่ระบาดในไทย

Home » สธ.เผย 8 จังหวัดพบไวรัสโควิดกลายพันธุ์ 4 ตัว! เป็นลูกหลานของเดลตาที่ระบาดในไทย
สธ.เผย 8 จังหวัดพบไวรัสโควิดกลายพันธุ์ 4 ตัว! เป็นลูกหลานของเดลตาที่ระบาดในไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยตรวจพบเดลตากลายพันธุ์ 4 ตัว เป็นลูกหลานเดลตาที่ระบาดในไทย สุ่มเจอใน 8 จังหวัด รวม 14 ราย ย้ำไม่ใช่พันธุ์ใหม่ไม่ใช่พันธุ์ไทย ในต่างประเทศก็เจอ เฝ้าระวังต่อเนื่องจับตาส่งผลต่ออาการรุนแรงขึ้น-ดื้อวัคซีนหรือไม่

วันนี้ (24 ส.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย และการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของโควิด 19

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ กล่าวว่า จากข้อมูลในองค์กร GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลของประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยซึ่งมีการรายงานการถอดรหัสพันธุกรรม โดยปัจจุบันมีประมาณเกือบ 3 ล้านตัวอย่างนั้น จะมีการแบ่งเป็นสายพันธุ์ต่างๆ และศึกษาวิวัฒนาการที่มีการแตกกิ่งก้านสาขาออกมา

ซึ่งกรณีสายพันธุ์เดลตา B.1.617.2 พบว่ามีการกลายพันธุ์มากถึง 60 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น แต่การกลายพันธุ์จำนวนมากบ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนเป็นจำนวนมาก โดยสายพันธุ์เดลตา B.1.617.2 มีสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า เอวาย (AY) ตั้งแต่จุด 1 ถึง จุด 22 และมีสายพันธุ์ย่อยออกไปอีก 27 สายพันธุ์ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ B.1.617.2.1 – B.1.617.2.22 หรือเรียกสั้นๆ ว่า AY.1 – AY.22 เนื่องจากสายพันธุ์ย่อย AY บางจุดมีการแตกย่อยออกอีก

ข้อมูลของประเทศไทยจาก GISAID ที่พบสายพันธุ์ของเดลตา มีดังนี้

AY.4 หรือ B.1.617.2.4 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) 3% พบในเขตปทุมธานี จำนวน 4 คน

AY.6 หรือ B.1.617.2.6 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา)

AY.10 หรือ B.1.617.2.10 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา)

AY.12 หรือ B.1.617.2.15 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา)

“กรณีเดลตา AY ที่พบ 4 ตัวนั้น ปรากฏว่าไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสถานที่กักกันของรัฐ หรือมีจุดเริ่มต้นจากสนามบิน แต่บ่งชี้ว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย สรุปคือ จากข้อมูลน่าจะพอสรุปได้ว่า AY ทั้ง 4 ตัวที่เจอในประเทศไทย เท่าที่นั่งดูแล้วเป็นลูกหลานสายพันธุ์หลักเดลตาที่ระบาดในประเทศไทยอยู่แล้ว ส่วนที่ระบาดในไทยอยู่แล้วจะมาจากไหนต้องว่ากันอีกที เมื่อเจอว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์ในประเทศไทยจึงต้องมีการควบคุมดูแลอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะมีสายพันธุ์ลักษณะแบบนี้ที่เพิ่มจำนวนในท้องถิ่นแล้วถ้าขยายตัวมากๆ จะเกิดอะไรขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม AY ทั้ง 4 ตัวนี้มีรายงานพบในต่างประเทศด้วย และยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และคลินิกมากพอที่จะบอกว่า ดื้อต่อวัคซีนมากกว่าหรือน้อยกว่าเดลตาสายพันธุ์หลัก อาจจะมีข้อมูลตามมาหลังจากมีข้อมูลมากขึ้น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

ขณะที่ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตามีการอัปเดตตลอด และล่าสุดจากข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY.1 ไปจนถึง AY.25 ทุกตัวของสายพันธุ์เดลตายังมีคุณสมบัติแพร่กระจายเร็ว อาการรุนแรง ส่วนเชื้อเดลตาพลัสที่อินเดียเคยรายงาน คือ K417N ขณะนี้ยังไม่พบในไทย

สายพันธุ์ย่อยของเดลตาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ มีรายละเอียดดังนี้

AY.4 มีรายงานมากที่สุด คือ ประเทศอังกฤษ 67% ช่วง มิ.ย.-ส.ค. ซึ่งประเทศไทยพบที่บุรีรัมย์ 1 คน กำแพงเพชร 1 คน ปทุมธานี 4 คน เชียงใหม่ 1 คน สมุทรปราการ 1 คน และชลบุรี 1 คน  

AY.6 รายงานมากที่สุด คือ อังกฤษ 79% ช่วง ก.ค. ประเทศไทยพบที่กรุงเทพฯ 1 คน 

AY.10 ประเทศที่รายงานมากที่สุดคือ อังกฤษ 71% ช่วง ก.ค. ประเทศไทยพบที่กรุงเทพฯ 1 คน

AY.12 ประเทศที่รายงานมากที่สุด คือ เดนมาร์กและอังกฤษ ประเทศละ 11% ช่วง ก.ค.-ส.ค. ประเทศไทยพบที่สุราษฎร์ธานี 2 คน และกรุงเทพฯ 1 คน 

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศใดมีรายงานการตรวจพบมากไม่ได้แปลว่าประเทศนั้นมีจำนวนของสายพันธุ์นั้นจำนวนมาก แต่ตีความได้ว่าเป็นประเทศที่มีการสุ่มตรวจและรายงานจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ และบางประเทศที่ไม่มีรายงานเลยก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีสายพันธุ์นั้น แต่อาจจะเพราะไม่มีการสุ่มตรวจ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวว่า เดลตาสายพันธุ์ย่อยที่เจอในประเทศไทย มีรายงานการตรวจเจอในต่างประเทศเหมือนกัน เช่น AY.4 อังกฤษพบ 67% สหรัฐอเมริกาพบ 13% เดนมาร์กพบ 3% สเปน 2% ฝรั่งเศส 2% ดังนั้นจึงไม่ควรสรุปว่าเป็น “พันธุ์ใหม่พันธุ์ไทย” เพียงแต่ต้องจับตาดูว่า AY ที่เจอทั้ง 4 ตัวนั้นจะมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางรวดเร็ว หรือมีอิทธิฤทธิ์ใดต่อประเทศไทยบ้าง รวมถึงจะส่งผลต่ออาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ หรือดื้อต่อวัคซีนหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากที่มีการติดตามผู้ป่วยที่ตรวจเจอสายพันธุ์ย่อยยังไม่ได้มีอาการที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยังมีจำนวนและข้อมูลต่างๆ น้อยมาก จึงต้องมีการเฝ้าระวังติดตามสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ต่อเนื่องต่อไป จึงจะมีข้อมูลต่างๆ มากขึ้น รวมถึงยังไม่ได้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกจัดชั้นว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพียงแต่ทุกตัวก็เริ่มด้วยแบบนี้ เพราะการกลายพันธุ์เกิดขึ้นทุกวัน ถ้ากลายพันธุ์แล้วไม่มีอะไรประหลาดก็จบไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ