สธ.ห่วง “โปลิโอ-หัด” หวนระบาด หลังเด็กรับวัคซีนลดต่ำกว่า 80% ตั้งเป้าเร่งรัดฉีดครอบคลุมให้ได้ 90% ทุกจังหวัด ย้ำแม้เลยกำหนดช่วงอายุ กลับมาซ้ำได้ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน อย่าชะล่าใจ เสียชีวิตได้
26 เม.ย. 66 – ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน
เปิดงานสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค World Immunization Week 2023 และแถลงข่าวผนึกกำลังรัฐ-เอกชน Kick Off หน่วยบริการในพื้นที่เร่งเพิ่มความครอบคลุมวัคซีน
นพ.ธเรศ กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือป้องกันโรค ประเทศไทยมีแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นประเทศต้นๆ ที่บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนหลายตัว โดยปัจจุบันเรามีวัคซีนสำหรับเด็ก 11 ชนิด ป้องกัน 13 โรค และมีบางชนิดในผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ช่วงการระบาดของโควิด 19 เราสามารถรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้จำนวนมากถึง 150 ล้านโดส จากความร่วมมือกันของทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม.
อย่างไรก็ตาม พบว่า การฉีดวัคซีนพื้นฐานในเด็กลดลง เช่น วัคซีนเอชพีวี โดยที่เห็นชัดคือภาคใต้ จังหวัดชายแดน และเด็กที่อายุเพิ่มขึ้นการฉีดวัคซีนก็ยิ่งลดลง จึงต้องรณรงค์เป็น The Big Catch Up ซึ่งเราจะส่งเป้าหมายไปยังทุกจังหวัด เพื่อเร่งรัดควบคุมป้องกันโรค
นอกจากนี้ สัปดาห์หน้าจะเริ่ม Dual vaccine รณรงค์ฉีดวัคซีนคู่ป้องกันโควิดและไข้หวัดใหญ่ พร้อมกัน ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วนเหมือนตอนฉีดวัคซีนโควิด
ด้าน นพ.นคร กล่าวว่า ความครอบคลุมวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทุกตัวได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เรามีวัคซีนหลายชนิดให้เด็กและผู้ใหญ่ เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัคซีนตับอักเสบ บี วัคซีนหัด วัคซีนเอชพีวี เป็นต้น จากหลายสาเหตุ
เช่นผู้ให้บริการมีภารกิจมากจากจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ผู้รับบริการก็กังวลใจพาลูกหลานมารับวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นเช่นนี้ทั่วโลก การรณรงค์สัปดาห์ฉีดวัคซีนฯ จึงอยากให้ทุกฝ่ายสร้างความตระหนักในการมาเข้ารับวัคซีนให้ครบถ้วน
เรามีวัคซีนที่มีคุณภาพดี แต่จะไม่แสดงประสิทธิภาพถ้าไม่เข้าไปอยู่ในแขนประชาชนกลุ่มเป้าหมาย การอยู่ในตู้เย็นไม่เกิดประโยชน์ จึงต้องรวมพลังการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุข เอกชน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเครือข่าย รพ.สต. เข้ามาร่วมด้วย
“เรามีพันธสัญญานานาชาติ กำจัดโรคหัด ถ้าความครอบคลุมวัคซีนลดลง ก็จะทำให้กลับมาระบาดใหม่ ทำให้แผนงานกำจัดโรคหัดก็จะช้าลงไป หรือโรคโปลิโอก็มีพันธสัญญา เราเคยควบคุมได้ ไม่เห็นผู้ป่วยในประเทศไทยเลย
แต่ถ้าความครอบคลุมวัคซีนไม่ดี ก็จะเห็นโอกาสกลับมาระบาด แม้เวลานี้ยังไม่มี แต่ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ครอบคลุมวัคซีนต่ำลง ก็จะทำให้เกิดการระบาดของโปลิโอได้ ต้องช่วยกันทั้งผู้ให้บริการและรับบริการ วัคซีนทุกตัวผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เหลือแต่การมารับวัคซีน” นพ.นครกล่าว
นพ.นครกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายที่จะส่งให้ทุกจังหวัด เป็นเป้าหมายเร่งรัดให้อัตราความครอบคลุมวัคซีนเพิ่มขึ้นมา โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมากกว่า 90% ในวัคซีนทุกตัว เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และระดับบุคคล อย่างโรคหัดปัจจุบันเหลือ 80% บางจังหวัดต่ำกว่านี้ อย่าง 4 จังหวัดชายแดนใต้
ทั้งนี้ การพลาดวัคซีนไม่ว่าตัวใดก็จะเสียโอกาสกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับบุคคล ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่จำเป็นเพื่อช่วยลดผู้ที่อาจพลาดโอกาสรับวัคซีน ดังนั้น อัตราความครอบคลุมต้องอยู่ที่มากกว่า 90% จึงมั่นใจ
แต่หากไม่ได้รับในช่วงเวลาที่กำหนดก็กลับมารับซ้ำได้ทุกตัว ไม่มีผลกระทบมากนัก แม้จะเลยนัดหรือช่วงอายุไปแล้ว ให้ไปติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน ว่าเราพลาดวัคซีนตัวไหนบ้าง เจ้าหน้าที่จะพิจารณาฉีดวัคซีนเพิ่มเติมให้ ยกเว้นบางตัว คือ วัคซีนไอกรนสามารถฉีดเด็กเล็กได้ แต่ถ้าอายุ 6 ขวบขึ้นไปจะฉีดไม่ได้ เพราะจะมีผลข้างเคียงเยอะเกิน ดังนั้น ช่วงนี้ใครพลาดไปแล้ว 1-2 เดือน หรือเป็นปีก็รีบกลับมารับวัคซีนที่ขาดไปได้
“วัคซีนบางตัวต้องฉีดหลายเข็ม หากได้รับไม่ครบ เมื่อต้องกลับมารับวัคซีนอีกครั้ง ไม่ต้องกลับมาเริ่มตั้งแต่แรก ภูมิคุ้มกันในร่างกาย เรามีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความจำ เมื่อกระตุ้นไม่ว่าช่วงเวลาใดก็มีประโยชน์ไม่ต้องเริ่มใหม่ การฉีดกระตุ้นจะช่วยให้เรากลับมามีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้
ฝากทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูโรงเรียนอนุบาล มีส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นผู้ปกครองพานักเรียนไปฉีดวัคซีน โดยเฉพาะโรคหัด หากลดลงจะเกิดการระบาดได้ ผู้ที่ไม่แข็งแรงและมีโรคประจำตัว ก็เสียชีวิตได้ อย่าคิดว่าเป็นแค่ไข้ออกผื่น ทำให้ปอดอักเสบ ปอดบวมเสียชีวิตได้ ” นพ.นครกล่าว
เมื่อถามถึงการจัดซื้อจัดหาวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูกเพื่อฉีดทั้งเด็ก ป.5 ปัจจุบันและกลุ่มเก็บตก มีการดำเนินการอย่างไร นพ.นครกล่าวว่า แผนงานปกติเราจัดหาวัคซีนมาประมาณ 8 แสนโดส ขณะนี้ สปสช.ก็จัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมอีก 4 แสนโดส และจากการที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติไปร่วมกับบริษัทผู้ผลิตวัควีนในการทำงานพัฒนาวัคซีนร่วมกัน ก็ได้รับบริจาควัคซีนแบบให้เปล่ามาอีก 2 แสนกว่าโดส และกำลังได้รับหนังสือแสดงเจตนาบริจาควัคซีนเพิ่มเติมจากภาคเอกชนด้วย
เชื่อว่า ด.ญ.ช่วงที่ไม่ได้รับวัคซีนจากวัคซีนขาดแคลน ใน 1-2 ปีนี้จะสามารถเก็บตกเด็กนักเรียนหญิงที่พลาดการฉีดในช่วง ป.5 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วง ม.1-3 แล้ว ตอนนี้วัคซีนถือว่าเพียงพอ โดย ป.5 ปีนี้มีวัคซีนแน่เพราะซื้อวัคซีนแล้ว ส่วน ป.6 ก็ฉีดไปเมื่อปีที่แล้ว 1 เข็ม ปีนี้ก็จะได้รับวัควีนเพิ่มอีก 1 เข็ม
ส่วน ม.1-3 จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่ม โดยคาดว่า ม.3 จะเก็บครบทั้งหมดในปีนี้ และอาจรวมไปถึงกลุ่ม ม.2 ด้วย อาจจะเหลือช่วง ม.1 ที่จะต้องหาวัคซีนมาเพิ่มเติมแต่ไม่เหลือวิสัย เพราะเท่าที่นับจำนวนวัคซีนที่จัดหาและบริจาคก็น่าจะเก็บครบถ้วนหมดทุกกลุ่มอายุที่พลาดไป เราจะรณรงค์ในโรงเรียนการฉีดในโรงเรียนความครอบคลุมค่อนข้างสูง เพราะนักเรียนอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้ว หากช่วยกันความครอบคลุมก็จะกลับมาได้
“การฉีดวัคซีนเอชพีวีสามารถฉีดเข็มเดียวได้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าให้ใช้ 1 หรือ 2 เข็ม หากสภาวะขาดแคลนก็ฉีดเข็มเดียวไปก่อน หากเพียพงอก็ 2 เข็ม คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคก็มีข้อแนะนำเช่นนี้
หากเราจัดหาวัคซีนได้ไม่พอก็ระดมฉีดเข็มแรกไปก่อน ขึ้นกับความสามารถในการจัดหาวัคซีนด้วย หากจัดหาได้ก็กลับมาฉีดเป็นเข็มสองได้ และจะมีการศึกษาต่อให้ชัดมากขึ้นว่าต่อไปอาจฉีดเข็มเดียวได้ ซึ่งกลุ่ม ป.5 ป.6 ปีนี้จะได้สองเข็ม และพยายามจัดให้ได้ 2 เข็มในกลุ่มอื่น” นพ.นครกล่าว
ถามว่าวัคซีนโควิด 19 หลายบริษัทเป็นเช่นไร นพ.นครกล่าวว่า ทุกบริษัทพยายามวิจัยว่าจะต้องใช้วัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์นั้นนี้หรือไม่ แต่พอวิจัยแล้วพบว่าดีกว่าเดิมนิดเดีย วสุดท้ายภูมิคุ้มกันก็ตกลงไป ผลลดความรุนแรงของโรคและเสียชีวิตไม่ต่างกันในรุ่นใหม่รุ่นเก่า ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหน ทั้ง mRNA ไวรัลเวกเตอร์ หรือเชื้อตาย ก้ให้ประโยชน์สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้ดีมาก
ดังนั้น จึงพยายามสื่อสารว่าฉีดกระตุ้นตัวไหนก็ได้ไม่ว่าเคยฉีดตัวใดมา แล้วไม่นับว่าเข็มที่เท่าไร แต่ดูว่าเข็มสุดท้ายหากนานกว่า 4-6 เดือน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ก้ควรฉีดกระตุ้น นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนโควิดสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งอัตราความครอบคลุมไม่ค่อยดี เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยพามาฉีด ก้ต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจ