อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันยังไม่พบการระบาดของโควิดสายพันธุ์มิว และสายพันธุ์ C.1.2 ในไทย แต่ย้ำว่าขณะนี้การระบาดของสายพันธุ์เดลตากระจายไปครบทุกจังหวัดแล้ว
วันนี้ (6 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยเปิดเผยว่า ในส่วนของการค้นพบสายพันธุ์โควิด-19 ทั่วโลก ที่ล่าสุดมีการค้นพบสายพันธุ์มิว Mu (B.1.621) เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามองและเฝ้าระวัง เนื่องจากพบว่าอาจมีการหลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม และพบการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้ Antigenic Change ได้แก่ E484K ซึ่งอาจมีความต้านทานต่อวัคซีนได้ (Reduce Neutralizing Activity)
โดยปัจจุบันมีการค้นพบแล้วในกว่า 39 ประเทศ เช่น ประเทศโคลอมเบีย, เอกวาดอร์, สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งสายพันธุ์นี้มีการพบครั้งแรก และระบาดหนักในประเทศโคลอมเบีย ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานการพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย
นอกจากนี้ มีการค้นพบสายพันธุ์ C.1.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีอัตราการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากยังไม่มีการค้นพบในไทย และมีการค้นพบเพียง 3% เท่านั้นในการแพร่ระบาดที่ประเทศแอฟริกาใต้
สำหรับสายพันธุ์ AY.12 หรือ B.1.617.2.15 (สายพันธุ์ย่อยของเดลตา) ที่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยก่อนหน้านี้ จากการสำรวจพบว่ามีการแพร่ระบาดเพิ่มเล็กน้อย ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพูดคุยกับทางฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เนื่องจากทาง GISAID ระบุว่า ประเทศไทยอาจมีการใส่รหัสสายพันธุ์ AY.12 ผิดเป็น AY.30 ซึ่งหากมีความคืบหน้าทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรายงานเรื่องนี้ในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63-14 ส.ค. 64 มีการสุ่มตรวจตัวอย่างแล้วประมาณ 3 ล้านราย และตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 ตั้งเป้าทำการตรวจไว้ที่ 10,000 ราย โดยจะมีการปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ในการตรวจอีกครั้ง เพื่อให้ผลการตรวจสามารถเป็นภาพสะท้อนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ทั้งประเทศได้
โดยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 ส.ค.-3 ก.ย. 64 จากการสุ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,523 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตาจำนวน 1,417 ราย (93%) สายพันธุ์อัลฟาจำนวน 75 ราย (5%) และสายพันธุ์เบตาจำนวน 31 ราย (2%) ส่วนในพื้นที่ กทม. พบเชื้อเดลตาแล้ว 97.6%
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของสายพันธุ์เบตายังคงพบการระบาดในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดจำนวน 28 ราย สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ยังไม่มีรายงานการตรวจพบในประเทศไทยแต่อย่างใด