สธ.ปรับเกณฑ์ “อ้วน” ใช้ทั้งค่าดัชนีมวลกาย และรอบเอวต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง พบคนไทย 4.9% อ้วนซ่อนแอบ ดัชนีมวลกาย ไม่เกิน แต่รอบเอวเกินช่วยเพิ่มคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังมากขึ้น
วันที่ 18 ส.ค.2565 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังเปิดงานประกาศขับเคลื่อนเกณฑ์ประเมินภาวะโภชนาการวัยทำงานและผู้สูงอายุ โดยใช้ดัชนีมวลกายร่วมกับรอบเอวปกติ ต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง ว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย
โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พบว่า ประชากรที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีรอบเอวเกินส่วนสูงหารสอง พบสัดส่วนร้อยละ 4.9 แสดงให้เห็นว่าคนที่มีดัชนีมวลกายปกติ ก็มีรอบเอวเกินได้ ดังนั้น การประเมินสุขภาพเบื้องต้นโดยใช้ดัชนีมวลกายอย่างเดียว จึงไม่สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนได้ทั้งหมด
สธ.จึงกำหนดเกณฑ์การประเมินและเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้คนวัยทำงานและผู้สูงอายุ มีภาวะโภชนาการดี และสุขภาพดี พร้อมขับเคลื่อนการใช้เกณฑ์การประเมิน 2 เกณฑ์ คือ 1. ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และ 2.ค่ารอบเอวปกติไม่เกินส่วนสูงหารสอง ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้แม่นยำมากขึ้น
“ค่า BMI สำหรับคนเอเชียในวัยทำงานและผู้สูงอายุยังคงใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือ ค่าปกติอยู่ระหว่าง 18.5-22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ส่วนเกณฑ์รอบเอวจะใช้รอบเอวปกติต้องไม่เกินส่วนสูงของตนเองหารด้วยสอง โดยใช้ร่วมกันทั้งคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ” นพ.ธงชัย ระบุ
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การวัดค่าดัชนีมวลกาย โดยนำน้ำหนักตัวหารส่วนสูงยกกำลังสอง ค่าที่ออกมาบางกลุ่มไม่เกินเกณฑ์ที่บ่งชี้ว่าอ้วน แต่ที่เรากังวลคือไขมันรอบเอวในช่องท้อง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพ ทั้งภาวะอ้วน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
” บางคนอาจจะไม่รู้ตัวและส่งผลต่อความรุนแรงของโรคจนต้องนอน รพ. หรืออาจถึงขั้นพิการ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลลุกลามจนต้องตัดอวัยวะ ไตวาย โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น การปรับเกณฑ์ด้วยการคิดค่าดัชนีมวลกาย ร่วมกับรอบเอวต้องไม่เกินส่วนสูงหารสอง ถือเป็นการป้องกันและตรวจจับความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดโรค ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว