สธ.เปิดติวด่วน แพทย์ทั่วประเทศ ไกด์ไลน์วินิจฉัย – รักษาโควิด ลดสับสน เผยปรับการให้ยารักษาเฉพาะกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงรุนแรงหรือปอดอักเสบเล็กน้อย เลือกตัวใดตัวหนึ่ง ย้ำยาทุกตัวยังใช้ได้ผล แจงติดเชื้อแนะนำหยุดงาน 5 วัน
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมอัปเดตสถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์ แนวทางการรักษา และการให้วัคซีน ซึ่งจัดร่วมกับแพทยสภา เพื่อสื่อสารกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า
ช่วงท้ายเทศกาลสงกรานต์มีข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ เชื้อกลายพันธุ์ และการรักษาที่อาจสับสน คณะกรรมการวิชาการมีการประชุมหารือเมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยทบทวนด้านวิชาการและนำเสนอในอีโอซี จึงมีข้อสั่งการให้กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้สับสน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก จำนวนผู้ป่วยไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไรนัก อยู่ในช่วงขาลงด้วยซ้ำ ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิต เนื่องจากหมดช่วงฤดูหนาวในประเทศแถบเหนือ
ประเทศไทยช่วงต้น เม.ย.ก็พบผู้ติดเชื้อน้อยมากในหลักร้อยที่เข้ามารักษาใน รพ. แต่หลังสงกรานต์ผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้น พบ 435 ราย ประมาณ 2 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า ปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้น 30-40% ของสัปดาห์ก่อนหน้า จำนวนผู้เสียชีวิต 2 ราย
การระบาดระลอกนี้หลังเทศกาลสงกรานต์คงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตมีอายุน้อย เพศหญิง 2 รา ยอายุ 23 ปี และ 24 ปี มีภูมิคุ้มกันต่ำไม่ได้รับวัคซีนเลย อีกรายฉีดวัคซีนมานานเกิน 3 เดือน
สถานการณ์ใกล้เคียงกับปีก่อน คือ หลังสงกรานต์มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็ก และมีผู้ป่วยเพิ่มอีกครั้งในช่วงฤดูฝนกลาง พ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ วัคซีนยังป้องกันการป่วยและเสียชีวิตอย่างดี ไม่ว่าจะมีการกลายพันธุ์อย่างไร คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ผู้เชี่ยวชาญ WHO ยังให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน ทั่วโลกเริ่มปรับมาเป็นการฉีดประจำปี ไม่ได้นับว่าได้มากี่เข็ม หลังจากนี้ทุกคนจะให้รับวัคซีนประจำปี ซึ่งเวลาเหมาะสมกับประเทศ หลังสงกรานต์จะเข้าสู่หน้าฝนที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
“ลักษณะระบาดวิทยาของโควิดใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งระบาดตามฤดูกาล เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจให้วัควีน และไทยมีผลการสำรวจภูมิคุ้มกัน ประมากรมากกว่า 90% มีภูมิคุ้มกันต่อโควิดไม่ว่าจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อธรรมชาติ
การให้ 1 เข็มเป็นวัคซีนประจำปี ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือติดเชื้อ 3 เดือน ถ้าฉีดมา 1-2 เดือนก็ให้รอจนครบ 3 เดือนก่อน และวันที่ 1 พ.ค.นี้ กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่จะรับวัคซีนประจำปีก็รณรงค์พร้อมกัน ทั้งนี้ วัคซีนโควิดรุ่นเดิมรุ่นใหม่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นได้
นพ.โสภณกล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายหลักในการฉีดคือกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิต อายุ 60 ปีขึ้นไป โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ผู้ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ได้แก่ พนักงานที่บริการคนจำนวนมาก
ในพื้นที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่แออัด เช่น เรือนจำ ทัณฑสถาน หากไม่เคยมีประวัติรับวัคซีนหรือไม่เคยติดเชื้อ ให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 1-2 เดือนตามชนิดของวัควีนทีได้รับ หากเคยรับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วให้ฉีด 1 เข็มต่อปีเป็นบูสเตอร์โดส
หากกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้ 2 เข็มต่อปีได้ โดยให้ทุก 6 เดือน สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกทุก 6-12 เดือน ส่วนคนแข็งแรงดีก็รับวัคซีนได้ตามสมัครใจ เรามีวัคซีนมากกว่า 10 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอ
ภาพรวมจะให้ฉีดก่อนเข้าสู่ฤดูฝน หลังสงกรานต์มีเวลาอีก 2 สัปดาห์ที่จะรณรงค์วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หากใครต้องการฉีดวัคซีนโควิดก็ขอรับบริการได้ หากผู้ป่วยกำลังเพิ่มขึ้น รับวัคซีนเร็วก็กระตุ้นภูมิป้องกันโรคได้เร็ว โดยรับทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ หากไม่ฉีดพร้อมกัน ไม่ได้กำหนดว่าต้องเว้นห่างนานเท่าไร
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์ XBB.1.16 ในอินเดีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์เหมือนกัน คือ เหมือนไข้หวัดใหญ่ ไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา
ข้อมูลในอินเดียมีการเทียบอาการในเด็กและผู้ใหญ่ โดยในผู้ใหญ่จะพูดว่ามีไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะด้วย ส่วนในเด็กแตกต่างจะมีไข้สูงและตาแดง (Pink Eyes) ลักษณะพิเศษเจอในเด็ก
ดังนั้น กาปรระชุมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ถึงไกด์ไลน์การรักษาโควิด 19 มีการปรับเปลี่ยน 2 ประเด็น คือ 1.ปรับการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ 2.ปรับเงื่อนไขในการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB)
สำหรับแนวทางวินิจฉัยดูแลรักษายังเหมือนเดิม คือ ไม่ว่า OPD คลินิก รพ. หรือ รพ.สต. ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ สงสัยว่าโควิดให้ตรวจ ATK หรือ RT-PCR ก็ได้ หรือจัดแยกไว้พื้นที่สัดส่วน ถ้าไม่เจอเชื้อพิจารณาดูแลตามเหมาะสม ปฏิบัติ DMH เคร่งครัด 5 วัน ไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงให้ตรวจซ้ำ หากเจอเชื้อให้การรักษาตามอาการผู้ป่วย โดยการรักษาโควิดแบ่ง 4 กลุ่มตามเดิม คือ
1.ไม่มีอาการ สบายดี รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติ DMH 5 วัน ซึ่งเราพบกลุ่มนี้มากกว่า 60% ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส หายเองได้
2.มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก DMH 5 วัน หากมีอาการอย่างอื่นอาจให้ยาดูแลตามอาการที่เป็นอยู่ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
3.มีอาการไม่รุนแรง มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ไม่ต้องให้ออกซิเจน มีทั้งหมด 11 กลุ่ม ได้แก่ อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน อ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กก.หรือ BMI
มากกว่า 30 ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจเป็นผู้ป่วยนอกหรือรับไว้ใน รพ.ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยน คือ ให้เลือกยาตัวใดตัวหนึ่ง เริ่มจากแพกซ์โลวิด หรือเรมดิซิเวียร์ หรือโมลนูพิราเวียร์ และ LAAB
โดยเริ่มพิจารณาให้นับจากยาที่มีประสิทธิภาพและอาการของคนไข้เป็นหลัก ซึ่งอันดับแรกคือแพกซ์โลวิด เรมดิซิเวียร์ และโมลนูฯ กรณี LAAB สามารถให้ได้ เนื่องจาก XBB.1.16 ยังพบไม่มาก แต่ต้องให้เร็วที่สุดเมื่อพบผู้ป่วย หากอาการไม่ดีขึ้นใน 24-48 ชั่วโมง ให้ยาตัวอื่นร่วมได้
ย้ำว่ายาต้านไวรัสทั้งหมดที่มียังให้กับโควิดได้ทุกตัว โดยการให้ยาต้านไวรัสพิจารณาจาก 1.ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราป่วยหนักและอัตราตาย ประวัติโรคประจำตัว 2.ข้อห้ามการใช้ยา 3.ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านฯ กับยาเดิมของผู้ป่วย 4.การบริหารเตียง และ 5.ความสะดวกของการบริหารยา
และ 4.มีปอดอักเสบที่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ต้องแอดมิทใน รพ. แนะนำให้เรมดิซิเวียร์ยาฉีด 5-10 วันขึ้นกับอาการทางคลินก ร่วมกับการให้สเตียรอยด์
“สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ยึกตามแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาที่ราชวิทยาลัยฯ ให้ไว้ ไม่มีการแก้ไข ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยหน้างาน สรุปยาที่ยังใช้รักษาโควิดตามข้อบ่งชี้ คือ ยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ แพกซ์โลวิด สเตียรอยด์ และ LAAB ไม่มีข้อมูลว่าดื้อยาสามารถให้ได้ ส่วนการรับไว้รักษาใน รพ.หลักเกณฑ์เงื่อนไขยังตามเดิม” พญ.นฤมลกล่าวและว่า
หากตรวจว่าพบโควิดต้องหยุดงานหรือไม่ ซึ่งการติดเชื้อโควิดไม่ว่ามีหรือไม่มีอาการ เราให้เน้นการแยกตัวออกไป การหยุดงานช่วยให้ผู้ป่วยได้พักและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แนะนำหยุดงาน 5 วัน รวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วยก็ควรหยุดงาน