สธ. ชี้ ‘ฝีดาษลิง’ ยังไม่ต้องฉีดทุกคน เล็งลำดับแรกกลุ่มแพทย์ ยันต้องหารือกักตัวอย่างไร

Home » สธ. ชี้ ‘ฝีดาษลิง’ ยังไม่ต้องฉีดทุกคน เล็งลำดับแรกกลุ่มแพทย์ ยันต้องหารือกักตัวอย่างไร


สธ. ชี้ ‘ฝีดาษลิง’ ยังไม่ต้องฉีดทุกคน เล็งลำดับแรกกลุ่มแพทย์ ยันต้องหารือกักตัวอย่างไร

สธ. ชี้ ‘ฝีดาษลิง’ ยังไม่ต้องฉีดวัคซีนทุกคน เล็งลำดับแรกกลุ่มแพทย์-อายุน้อยกว่า 45 ปี ยันต้องหารือกักตัวอย่างไร จ่อออกนิยามโรคติดต่ออันตราย

วันที่ 24 พ.ค.65 ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการระบาดของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรค ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด

โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อใน 17 ประเทศ ซึ่งในทวีปแอฟฟริกา 2 ประเทศและนอกทวีปอีก 15 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน นอร์เวย์ กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และออสเตรเลีย

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า โดยบ่ายวันนี้จะมีการประชุมกรรมการวิชาการเรื่องโรคฝีดาษลิงครั้งแรก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องปรับนิยามโรคติดต่ออันตราย ตามหลักการจะมี 3 เกณฑ์เหมือนโควิด-19 คือ 1.ข้อมูลทางคลินิก จะกำหนดเรื่องอาการป่วยที่เข้าข่ายสงสัย 2.ข้อมูลห้องปฏิบัติการ จะกำหนดเรื่องการตรวจ และ 3.ข้อมูลระบาดวิทยา การกำหนดประวัติสัมผัสและประวัติเสี่ยง

ทั้งนี้จะมีการกำหนดให้กว้างเพื่อรองรับการระบาดที่อาจจะมากขึ้นในอนาคตด้วย แต่ยังไม่ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากยังไม่เคยถูกประกาศเป็นโรคอะไรเลยในประเทศไทย ดังนั้น เราจะมีระดับความรุนแรงที่เราเตรียมไว้ แม้ว่ายังไม่พบการติดเชื้อในไทยแต่เราต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเกณฑ์ต่างๆ ไว้ก่อน เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.รับทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณาปลูกฝีดาษอีกครั้ง แล้วจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาตอนนี้ ต้องประเมินสถานการณ์ก่อน ด้วยตอนนี้การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่หลักร้อยราย การปลูกฝีไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องเตรียมทั้งวัคซีนและการระบุกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคนไทยที่อายุ 45 ปีขึ้นไปได้รับการปลูกฝี โดยหลักการคือจะมีภูมิคุ้มกัน ก็จะเสี่ยงน้อยกว่า

ส่วนคนที่เกิดหลัง พ.ศ.2523 ไม่ได้รับการปลูกฝี ก็อาจนำมาเป็น กลุ่มเป้าหมายหลัก แต่กลุ่มเป้าหมายแรกจะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงหลังฉีดมีค่อนข้างเยอะ ดังนั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะฉีดได้ ต้องประเมินว่าวัคซีนใดใช้ได้กับคนไทยด้วย ทั้งนี้ กรรมการวิชาการก็จะนำเสนอชนิดของวัคซีนที่ใช้ปลูกฝีดาษและข้อมูลผลข้างเคียงหลังฉีดอีกครั้ง

“ขณะนี้กรมควบคุมโรคกำลังหาว่ามีบริษัทไหนขายวัคซีนฝีดาษ หรือ Smallpox และกำลังแพลนว่าจะซื้อ แต่ต้องติดตามอยู่ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน เรามีความจำเป็นต้องฉีดแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกกวาดล้างไปหมดแล้ว ดังนั้น ต้องประเมินสถานการณ์ที่จะมาสอดรับกันด้วย” นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามว่ากลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จะเป็นกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ จึงต้องมาดูข้อมูลทางระบาดเพิ่มเติมว่าจะเป็นกลุ่มไหนอีกบ้าง ดังนั้น จึงดูที่กลุ่มเดินทางไปประเทศที่มีการติดเชื้อ แต่ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ แม้จะยังมีการติดเชื้อหลักร้อยราย แต่เราก็ไม่ประมาท เบื้องต้นข้อมูลประเทศที่พบผู้ติดเชื้ออาจจะเป็นการติดเชื้อจากการร่วมงานเทศกาลกัน รวมถึงมีการมีเพศสัมผัส จึงเป็นไปได้กับทุกคน ดังนั้นถ้าสงสัยว่าใครเสี่ยงก็ควรเลี่ยงการใกล้ชิด

“ทางยุโรป มีการวางมาตรการที่ค่อนข้างดี อย่างเบลเยี่ยมกักตัว 21 วัน อาจจะทำให้การระบาดไม่ข้ามทวีปก็ได้ หากไม่ได้ใกล้ชิดจริงๆ ทั้งนี้ เท่าที่ดูอายุไม่เกิน 60 ปี ต่างประเทศยุติการปลูกฝีเร็วกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ

ส่วนประเทศไทยก็ต้องหารือกันต่อ ว่าจะกักตัวอย่างไร โดยหลัการคือกักเท่าจำนวนวันฟักตัวที่นานที่สุด ซึ่งโรคฝีดาษลิงนั้นมีระยะฟักตัว คือ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญว่าจะกักตัวอย่างไร” นพ.จักรรัฐกล่าว

เมื่อถามถึงการเฝ้าระวังประเทศที่เข้าไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้ยังเฝ้าระวัง 3 ประเทศหลักที่มีการระบาด ได้แก่ อังกฤษ สเปน และ โปรตุเกส ส่วน 17 ประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ เบื้องต้นถ้ามาจากประเทศเสี่ยง มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดถึงจะเข้านิยาม ซึ่งจะเคาะนิยามวันนี้

ทั้งนี้หากเจอผู้เดินทางเสี่ยง เช่นมี ผื่นขึ้น จะขอส่งตรวจเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง และใช้เวลา 24-48 ชั่วโมงทราบผล หากเป็นลบ ก็ปล่อยตัวได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีรายงานการส่งตรวจเชื้อในผู้เดินทาง โดยตอนนี้แจ้งทุกจังหวัดเพิ่มการเฝ้าระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาคลินิกผิวหนัง ทั้งนี้ จังหวัดท่องเที่ยวอาจต้องมีการให้ความรู้กับแพทย์และประชาชนมากขึ้น

เมื่อถามถึงการยกระดับขององค์การอนามัยโลก(WHO) ต่อโรคฝีดาษลิง นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศยกระดับ มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีการระบาดผิดปกติ ในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามในช่วง 2-3 วันมานี้ตัวเลขไม่ได้ขึ้นเยอะ ยังต้องติดตามต่อไปในระยะนี้ ส่วนผลสอบสวนในยุโรปออกมาบ้าง แต่ยังไม่ทั้งหมด มีประวัติสอดคล้องกับกิจกรรมปาร์ตี้ และเพศสัมพันธ์

เมื่อถามว่ากรณีติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ระยะแพร่เชื้อคือระยะที่มีตุ่มเกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะมีไข้ มีตุ่ม จึงจะเริ่มแพร่เชื้อ ส่วนก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่ระยะแพร่เชื้อ ซึ่งถือเป็นข้อดีที่ทำให้การระบาดไม่ได้ไปเร็ว แต่ต้องติดตามต่อ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ