กระทรวงสาธารณสุขกางแผนฉีดวัคซีนโควิด ตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จะเพิ่มแบบก้าวกระโดด เพราะคาดว่ามีวัคซีนเข้ามาในประเทศไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 ล้านโดส
วันนี้ (25 ก.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการฉีดวัคซีนโควิดเดือน ก.ย. ว่า มีวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ทั้งหมด 16 ล้านโดส และยังมีวัคซีนทางเลือกอย่างซิโนฟาร์มอีก 10 ล้านโดส ทำให้ยอดผู้ฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก และในเดือน ต.ค. จะมีซิโนแวค อย่างน้อย 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส ทำให้ยอดรวมวัคซีนที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดหาอย่างน้อย 24 ล้านโดส และซิโนฟาร์มอย่างน้อย 6 ล้านโดส รวมเป็น 30 ล้านโดส ดังนั้น เดือน ต.ค. จะเป็นเดือนที่มีการฉีดวัคซีนแบบก้าวกระโดด
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ที่เป็นซิโนแวคเข็ม 1 และแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 ทำให้สามารถฉีดวัคซีนเข็ม 2 ได้มากขึ้น โดยถึงสิ้นเดือน ก.ย. น่าจะสามารถฉีดวัคซีนเข็ม 1 อยู่ที่ 32 ล้านคน หรือคิดเป็น 45% ส่วนเข็ม 2 ฉีดได้ 18 ล้านคน หรือ 25% แต่หลังจากเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค. เป็นต้นไป การฉีดจะก้าวกระโดด อย่างสิ้นเดือน ต.ค. คาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ครอบคลุม 58% ส่วนเข็มสองได้ครอบคลุม 45% จากนั้นในสิ้นเดือน พ.ย. คาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ครอบคลุม 71% ส่วนเข็มสองได้ครอบคลุม 60% และสิ้นเดือน ธ.ค. คาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ครอบคลุม 85% ส่วนเข็มสองได้ครอบคลุม 74%
“หลังจากสิ้นเดือน ต.ค. พ.ย. และ ธ.ค. เป็นต้นไป การฉีดวัคซีนทั้งเข็มหนึ่งและเข็มสอง จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโด ถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ก็จะทำให้สถานการณ์การติดเชื้อและการเสียชีวิตลดลง สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด” นพ.โอภาส ระบุ
ส่วนนโยบายเรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นภูมินั้น สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มไปแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. และ มิ.ย.นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะแจ้งและนัดหมายให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มสามต่อไป ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดโอกาสการเสี่ยงติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตลงได้
แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่เดือน ต.ค. – ธ.ค. 64 มีดังนี้
- ตุลาคม 64
มีแผนการจัดหาวัคซีน รวม 24 ล้านโดส ประกอบด้วย ซิโนแวค 6 ล้านโดส, แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนทางเลือก คือ ซิโนฟาร์ม อีก 6 ล้านโดส รวมเป็น 30 ล้านโดส
- พฤศจิกายน 64
มีแผนการจัดหาวัคซีน รวม 23 ล้านโดส ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 13 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส
- ธันวาคม 64
มีแผนการจัดหาวัคซีน รวม 24 ล้านโดส ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 14 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10 ล้านโดส
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวขอบคุณความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งประชาชน ที่ทำให้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้มากกว่า 1.3 ล้านโดสจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดให้ครบ 1 ล้านโดสในวันมหิดล 24 กันยายนปีนี้ และเริ่มให้บริการวัคซีนเข็ม 3 แก่ผู้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม เพื่อเสริมภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์เดลตา โดยสามารถฉีดได้ 1.5 แสนกว่าคน จึงขอประชาชนทุกคนที่รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มตั้งแต่มีนาคม-มิถุนายน ขอให้มารับการฉีดเข็ม 3 ตามนัดหมาย
- “อนุทิน” ปลื้ม วันมหิดลฉีดวัคซีนโควิด 1.3 ล้านโดส ยอดสะสมทะลุ 50 ล้านโดส
นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย จนถึงสิ้นปี 2564 จะมีวัคซีนรวม 125 ล้านโดส และตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติสุข ผลักดันเศรษฐกิจ และสร้างสังคมให้แข็งแกร่งกลับมาโดยเร็ว ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพิจารณาให้บุตรหลานวัยเรียนอายุ 12-18 ปี มารับวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อให้เปิดการเรียนการสอนโดยเร็วที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนมีประโยชน์และคุ้มค่ากว่าการไม่ฉีด ส่วนการจัดหาวัคซีนปีหน้ามีความเพียงพอ นำมาใช้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพียงเข็มเดียว โดยจะฉีดกระตุ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โรคโควิดลดความรุนแรงลง ร่วมกับใช้มาตรการป้องกันแพร่เชื้อ ก็จะควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เฉพาะวันที่ 24 กันยายนเนื่องในวันมหิดล ฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วประเทศรวม 1,300,677 โดส เป็นเข็มแรก 841,769 โดส เข็มที่สอง 309,429 โดส และเข็มสาม 149,479 โดส โดยมี 7 เขตสุขภาพที่ฉีดได้เกิน 1 แสนโดส มากที่สุดคือเขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 148,887 โดส โดย กทม.ฉีดมากที่สุด 64,880 โดส รองลงมาคือชลบุรี 48,316 โดส อุดรธานี 47,110 โดส นครราชสีมา 44,863 โดส และเชียงใหม่ 39,214 โดส ทั้งนี้ ประเทศไทยฉีดวัคซีนมาถึงครึ่งทางจากเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุม 50 ล้านคน ปัจจุบันฉีดได้ 50,080,565 โดส เป็นเข็มแรก 44.45% ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร