การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 ของประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รวมทั้งยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน จากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้น คปค. ได้แปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และได้แถลงสิ้นสุดภารกิจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุว่าเนื่องจากประเทศไทยได้สู่สภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในการแต่งตั้งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
AFP
เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังรัฐประหาร 2549
หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขายเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 ปรับตัวลงไปแรงที่สุด 29.56 คิดเป็น 4.2% ในช่วงเปิดตลาด ทว่าในช่วงใกล้ปิดตลาด ดัชนีกระเตื้องขึ้นจึงปรับตัวลงไปเพียง 1.42% เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขณะนั้นยังแข็งแรงอยู่
ด้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้ตัดเงินช่วยเหลือด้านการทหาร และด้านการรักษาสันติภาพแก่ไทยเป็นจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 900 ล้านบาท
วันที่ 24 กันยายน 2549 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเชิงประเมินผลของประชาชนต่อสังคมไทยและคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนต้องการ: กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,550 คน ระหว่างวันที่ 22 – 23 กันยายน พบว่า ประชาชน 92.1% รู้สึกว่าทหารเป็นที่พึ่งได้ 89.1% รู้สึกปลอดภัย 87% รู้สึกทหารเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง 82.6% รู้สึกอบอุ่น ขณะที่อีก 24.9% รู้สึกกังวล 20.5% รู้สึกไม่สะดวก 19.7% รู้สึกตกใจ 7.6% รู้สึกไม่ชอบ และ 6.5% รู้สึกกลัว
รัฐประหาร 2549 จุดเริ่มต้นของหลายสิ่ง
การยุบพรรคการเมือง
หลังจากการรัฐประหาร คปค. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วย และมีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รวมทั้งออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
จากประกาศดังกล่าว มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค นับตั้งแต่ปี 2549 – 2551 จำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีจำนวน 2 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกยุบพรรคในปี 2562 และพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรคในปี 2563 ทั้งสองพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี
งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้น
สมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2547 ปี 2548 และปี 2549 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 7.85 หมื่นล้านบาท 8.12 หมื่นล้านบาท และ 8.59 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ทว่าหลังจากการรัฐประหาร 2549 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นถึงหลักแสนล้าน โดยในปี 2563 ได้รับงบประมาณ 2.31 แสนล้านบาท และในปี 2564 ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท
เศรษฐกิจชะลอตัว
ก่อนการรัฐประหารปี 2549 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับสูง ทว่าหลังจากการรัฐประหาร ปี 2549 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยลดต่ำลง โดยเฉพาะในปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.1% ปี 2557 ที่เกิดการรัฐประหารโดย คสช. มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.7% และปี 2563 มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ -6.1% ส่วนปี 2564 ในช่วงครึ่งแรกของปี เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2%
สถานการณ์ด้านเสรีภาพ
ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
สำหรับสถานการณ์ด้านเสรีภาพหลังจากการรัฐประหารโดย คปค. มีการประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 7 ห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ประกาศฉบับนี้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับว่า นับจากวันประกาศใช้จนถึงวันที่มีการออกกฎหมายยกเลิก “ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน” มีอายุเป็นกฎหมายอยู่ที่ 3 เดือน 6 วัน
ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง
21 กันยายน 2549 คปค. ออกประกาศฉบับที่ 15 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 รวมระยะเวลาที่อยู่ภายใต้ประกาศดังกล่าว 10 เดือน 27 วัน ตามด้วยการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550
การควบคุมสื่อออนไลน์
20 กันยายน 2549 คปค.ออกคำสั่ง คปค. ที่ 5/2549 กำหนดให้ “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลาย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย” คำสั่งดังกล่าวบังคับใช้ถึงในเดือนธันวาคม 2550 รวมระยะเวลาที่อยู่ภายใต้คำสั่งควบคุมสื่อออนไลน์ 1 ปี 3 เดือน
การดำเนินคดี มาตรา 112
หลังจากปี 2549 ยอดฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 เพิ่มขึ้น โดยปีที่มียอดการฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลเกินร้อยข้อหา ได้แก่ ปี 2550, 2552 และ 2558
ปี 2550 เป็นช่วงเวลาหลังจากการรัฐประหาร และมีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) รวมทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดง เพื่อต่อต้านรัฐประหารอย่างแพร่หลาย และมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรีในการรัฐประหาร
ปี 2552 ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงและการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม จากการบันทึกข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างและหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 มากกว่าช่วงปี 2552
ปี 2558 ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารโดย คสช. มีการจับกุมผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก ขณะที่ในปี 2560 iLaw รายงานว่า ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามมาด้วยความโกรธแค้นของประชาชน การระบายออกท่ามกลางความอึดอัด และการดำเนินคดีจำนวนหนึ่งตามมา ซึ่งมีเหตุจากช่วงปลายปี 2559 ทำให้มีสถิติจำนวนคดีที่สูงขึ้นเช่นกัน