2021 เป็นปีที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์ทั่วโลกเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องที่น่ายินดี การสูญเสีย ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาวที่สั่นคลอนชื่อเสียงของราชวงศ์ บีบีซีไทยได้ประมวลข่าวน่าสนใจของราชวงศ์โลกในรอบปีนี้มาให้อ่านกัน
สหราชอาณาจักร
2021 เป็นอีกปีที่ราชวงศ์วินด์เซอร์ต้องเผชิญกับมรสุมภายในราชสำนัก ทั้งปัญหาความขัดแย้ง และการสูญเสียสมาชิกคนสำคัญ
ราชวงศ์อังกฤษต้อนรับศักราชใหม่ด้วยข่าวดีที่เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา ประกาศเมื่อกลางเดือน ก.พ.ว่า กำลังจะมีทายาทคนที่สอง ก่อนที่เมแกนจะให้กำเนิดธิดา นามว่า ลิลีเบต “ลิลี” ไดอานา เมาท์แบตเทน-วินด์เซอร์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.
- ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2020
- ข่าวเด่นราชวงศ์โลกปี 2019
ทว่าในวันที่ 19 ก.พ. เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาได้สร้างความตกตะลึงให้กลุ่มผู้ติดตามข่าวราชสำนัก ด้วยการประกาศว่า ทั้งคู่จะไม่กลับไปทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอีกต่อไปแล้ว ซึ่งหมายความว่าทั้งสองจะต้องคืนยศทหาร และตำแหน่งเกียรติยศต่าง ๆ ที่ได้รับพระราชทานมาในอดีต รวมทั้งจะไม่เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ออกปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นทางการอีกต่อไป
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงต่อเรื่องนี้ว่า บรรดาพระราชวงศ์อังกฤษต่างรู้สึก “เสียพระทัยกับการตัดสินพระทัยของดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ แต่ทั้งสองพระองค์จะยังคงเป็นสมาชิกที่รักของครอบครัวเสมอไป”
- แฮร์รี-เมแกน ไม่กลับไปทำหน้าที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษแล้ว
- แฮร์รี-เมแกน เผยราชวงศ์นิ่งเฉยเรื่องเหยียดผิว กดดันจนเมแกนคิดฆ่าตัวตาย
ในขณะที่ข่าวร้ายดังกล่าวยังไม่ทันจะจางหายไป เจ้าชายแฮร์รีและพระชายาก็ประทานบทสัมภาษณ์เขย่าราชวงศ์อังกฤษในรายการโทรทัศน์ของพิธีกรชื่อดัง โอปราห์ วินฟรีย์ ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ถึงสาเหตุการยุติบทบาทในฐานะพระราชวงศ์ชั้นสูง
โดยดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ได้เผยถึงแรงกดดันจากการถูกจำกัดเสรีภาพในเรื่องต่าง ๆ หลังเข้าเป็นสมาชิกราชวงศ์ จนทำให้ครั้งหนึ่งต้องประสบปัญหาสุขภาพจิตถึงขั้นที่เคยคิดฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ เมแกน ยังอ้างถึงการเผชิญปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ โดยในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ได้เปิดเผยเรื่องที่โอรสของพระองค์ไม่ได้รับการอวยยศให้เป็นเจ้าชาย
- ความบาดหมางระหว่างดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์กับราชสำนักและสื่ออังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
- เมแกน “เสียพระทัย” ถูกร้องเรียนรังแกเจ้าหน้าที่ในวัง
- ทำไมโอรสของแฮร์รี-เมแกนจึงไม่มียศเป็น “เจ้าชาย”
เมแกนเล่าว่ากรณีนี้ทำให้ “อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบตเทน-วินด์เซอร์” ไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยเฉกเช่นสมาชิกราชวงศ์โดยทั่วไป และตั้งข้อสันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเขามีเชื้อสายคนผิวสี
“เมื่อฉันตั้งท้อง พวกเขาก็เปลี่ยนกฎเรื่องการอวยยศทันที ทั้งที่พวกเขาไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้น…พระราชวงศ์บางพระองค์ถึงกับบอกแฮร์รีว่า พวกเขากังวลใจว่าลูกของเราจะเกิดมามีสีผิวคล้ำมากขนาดไหน จะมีหน้าตาเป็นยังไง”
หลังบทสัมภาษณ์ดังกล่าวออกอากาศ เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยตรัสว่า ราชวงศ์ “ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติอย่างสิ้นเชิง”
จากนั้นไม่นาน ราชวงศ์ก็ต้องเผชิญข่าวร้ายครั้งใหญ่ เมื่อเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง สิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ขณะมีพระชนมายุ 99 พรรษา
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า “เป็นความโศกเศร้ายิ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงประกาศถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามีอันเป็นที่รักของพระองค์ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ…พระองค์สิ้นพระชนม์ไปอย่างสงบเมื่อเช้านี้ที่พระราชวังวินด์เซอร์”
- เจ้าชายฟิลิป สิ้นพระชนม์แล้ว
- พระประวัติเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ
- ศาลสั่งปิดลับพินัยกรรมเจ้าชายฟิลิป 90 ปี ห่วงกระทบพระเกียรติควีน
- พิธีพระศพเจ้าชายฟิลิป เป็นตามพระราชประสงค์
- จากใจลูกหลานถึง “คุณปู่ของชาติ” เจ้าชายฟิลิปในความทรงจำ
เจ้าชายฟิลิปทรงเป็นคู่ชีวิตที่เคียงข้างสมเด็จพระราชินีนาถฯ มากว่า 70 ปี โดยครั้งหนึ่ง พระองค์มีพระราชดำรัสถึงพระราชสวามีว่า
“ท่านเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับคำชมง่าย ๆ แต่ที่จริงแล้วท่านเป็นขุมพลังแข็งแกร่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ ข้าพเจ้าและสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมด รวมทั้งประเทศนี้และประเทศอื่น ๆ ต่างเป็นหนี้ต่อท่านมากยิ่งกว่าที่จะกล่าวอ้างหรือล่วงรู้ได้”
พิธีพระศพดยุคแห่งเอดินบะระ จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่โบสถ์เซนต์จอร์จ ในพระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. โดยมีสมาชิกในราชวงศ์ และบุคคลใกล้ชิดเข้าร่วมเพียง 30 คน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงเจ้าชายแฮร์รีที่เสด็จมาร่วมพิธีจากสหรัฐฯ
ในเดือน พ.ค. มีการเปิดเผยผลการสอบสวนอิสระที่พบว่า บีบีซีปฏิบัติไม่ได้ตาม “มาตรฐานขั้นสูงด้านคุณธรรมและความโปร่งใส” ในการสัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอานา ในรายการพาโนรามา (Panorama) เมื่อปี 1995 โดยนายมาร์ติน บาเชียร์ ผู้สื่อข่าวได้ใช้วิธีการ “หลอกลวง” และปลอมแปลงเอกสารเพื่อให้ได้โอกาสสัมภาษณ์ ซึ่งในรายการพระองค์ทรงเปิดเผยถึงปัญหาในชีวิตคู่กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ และได้นำไปสู่การที่ทั้งสองพระองค์ทรงหย่าขาดจากกันในเวลาต่อมา
บีบีซีระบุว่า ผลการสอบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง “ข้อบกพร่องที่ชัดเจน” และ “เราขอโทษต่อเรื่องนี้” ส่วนนายบาเชียร์ ได้ขอโทษที่ปลอมแปลงเอกสาร แต่อ้างว่าเอกสารเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินพระทัยของเจ้าหญิงไดอานา ในการประทานสัมภาษณ์
- กรรมการไต่สวนอิสระชี้นักข่าวบีบีซีใช้กลลวงเพื่อขอประทานสัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอานา
- สัมภาษณ์เขย่าราชบัลลังก์อังกฤษของไดอานา กับข้อครหาที่บีบีซีเผชิญ
เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงตำหนิความบกพร่องของบีบีซีว่าได้ซ้ำเติมอาการวิตกกังวลและทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมารดากับพระบิดาของพระองค์ย่ำแย่ลง
เจ้าชายวิลเลียมทรงบรรยายความรู้สึกหลังจากทรงทราบผลการไต่สวนครั้งนี้ว่า พระองค์ “เสียใจเป็นที่สุด” ที่พระมารดาไม่ทรงทราบว่าพระองค์ถูกหลอกลวง
ขณะที่เจ้าชายแฮร์รี ตรัสว่า “ผลพวงของวัฒนธรรมในการแสวงหาประโยชน์และการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณ” เป็นเหตุที่ทำให้พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1997
หลังผลการไต่สวนออกมา บีบีซีได้ส่งสารขออภัยถึงเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเอิร์ล สเปนเซอร์ พระอนุชาของเจ้าหญิงไดอานา
แม้ในรอบปีนี้สมาชิกราชวงศ์วินเซอร์เผชิญกับเรื่องที่หนักหน่วง ทว่าก็ยังมีข่าวดีของพระธิดาสองพระองค์ในเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก พระราชโอรสองค์กลางในสมเด็จพระราชินีนาถฯ นั่นคือเจ้าหญิงเบียทริซ ที่ให้กำเนิดธิดานามว่า “เซียนนา เอลิซาเบธ แมเปลลี มอซซี” เมื่อกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหญิงยูเชนี พระขนิษฐา ทรงมีประสูติกาลโอรสนามว่า “ออกัสต์ ฟิลิป ฮอว์ก บรูกส์แบงก์” เมื่อต้นเดือน ก.พ.
เนเธอร์แลนด์
อีกราชวงศ์ยุโรปที่ถูกจับตาในปีนี้คือ ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา ของเนเธอร์แลนด์ ที่เจ้าหญิงอามาเลีย พระราชธิดาองค์โตในสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ทรงเจริญพระชันษา 18 ปี เมื่อ 7 ธ.ค. และอนาคตของพระองค์ก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสังคม รวมถึงเรื่องคู่ครองด้วย ส่งผลให้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นถามในรัฐสภา ซึ่งนายมาร์ก รุตเตอ นายกรัฐมนตรีรักษาการของเนเธอร์แลนด์ได้ระบุชัดเจนเมื่อกลางเดือน ต.ค. ว่า กษัตริย์หรือราชินีสามารถอภิเษกสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันได้ โดยไม่ต้องสละสิทธิ์ในการขึ้นครองราชย์
- เจ้าหญิงอามาเลีย มกุฎราชกุมารีเนเธอร์แลนด์ฉลองบรรลุนิติภาวะเรียบง่าย
- นายกฯ ดัตช์ชี้ มกุฎราชกุมารีสามารถอภิเษกสมรสกับสตรีได้
นายรุตเตอ อธิบายว่า นี่เป็นเพียง “สถานการณ์เชิงสมมุติ” แต่ราชินีพระองค์ต่อไปของเนเธอร์แลนด์สามารถอภิเษกสมรสกับผู้หญิงได้ “ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงไม่เห็นว่าองค์รัชทายาท หรือกษัตริย์จะต้องสละราชสมบัติ หากพระองค์มีพระราชประสงค์จะอภิเษกสมรสกับคู่รักเพศเดียวกัน”
เจ้าหญิงอามาเลีย กำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในปีหน้า โดยก่อนหน้านี้พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายฝ่าย หลังจากทรงปฏิเสธที่จะรับเงินประจำตำแหน่งรายปีราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 66 ล้านบาท) ที่รัฐจัดถวายให้เมื่ออายุครบ 18 ปี
พระองค์ทรงแจ้งต่อนายรุตเตอ ว่าไม่ประสงค์จะรับเงินรายปีดังกล่าว เนื่องจากไม่สบายพระทัยที่จะรับเงินโดยมิได้กระทำการใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ตอบแทน อีกทั้งยังไม่สบายพระทัยเนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยยังทุกข์ยาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19
หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไฟเขียวให้องค์รัชทายาทสามารถสมรสกับคนเพศเดียวกันได้ ในเดือนเดียวกันนั้นก็มีข่าวว่า นายเฟรดริก เวียร์แซลล์ ราชเลขาธิการสำนักพระราชวังสวีเดน (Marshal of the Realm) ได้ออกมายืนยันเช่นกันว่า กษัตริย์หรือองค์รัชทายาทของสวีเดนจะไม่ต้องสละราชบัลลังก์หากต้องการอภิเษกสมรสกับคนเพศเดียวกัน โดยเขาระบุว่า ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างออกไปสำหรับการสมรสของคนเพศเดียวกัน และสามารถทำได้โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ตามหลักกฎเกณฑ์ปกติ
ซาอุดีอาระเบีย
ในรอบปีที่ผ่านมา เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ยังคงเป็นที่จับตามองของผู้คนทั่วโลก นับตั้งแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการสังหารนายจามาล คาชูจกิ นักข่าวและนักวิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียในปี 2018
ล่าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มกุฎราชกุมารผู้มีบทบาทเป็น “ผู้ปกครองสูงสุดในทางพฤตินัย” ของซาอุดีอาระเบียผู้นี้ก็ได้ถูกนายซาอัด อัล-จาบรี อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย ออกมาเปิดโปงว่า เมื่อปี 2014 พระองค์ทรงเคยมีความคิดที่จะใช้ “แหวนพิษ” เพื่อปลงพระชนม์อดีตกษัตริย์ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ บิน อับดุล อาซิส ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุลา (ลุง) เพื่อเปิดทางให้พระบิดาของตนได้ขึ้นครองราชย์ โดยในช่วงนั้นได้เกิดความตึงเครียดขึ้นภายในราชวงศ์เกี่ยวกับเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์
- อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแฉ มกุฎราชกุมารซาอุฯ คิดปลงพระชนม์อดีตกษัตริย์
- เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน และกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย เจ้าของทีมนิวคาสเซิลรายใหม่
นายจาบรี ที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศแคนาดายังเผยว่า ได้รับคำเตือนจากเพื่อนคนหนึ่งในหน่วยงานข่าวกรองในตะวันออกกลางว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้เคยส่งทีมนักฆ่ามาจัดการเขาในปี 2018 เพียงไม่กี่วันหลังการสังหารนายคาชูจกิ
มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียทรงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ รวมทั้งความเกี่ยวข้องกับการสังหารนายคาชูจกิด้วย แม้ว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ จะพบหลักฐานว่าพระองค์เป็นผู้อนุมัติแผนสังหารดังกล่าวก็ตาม
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อีกราชวงศ์ในตะวันออกกลางที่มีข่าวครึกโครมไม่แพ้กันก็คือ ราชวงศ์ในนครรัฐดูไบ ซึ่งเจ้าหญิงลาติฟา พระธิดาของเชคโมฮัมเหม็ด บิน รอชิด อัลมักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ส่งวิดีโอลับถึงพระสหาย ที่ถูกส่งต่อให้บีบีซีและได้รับการเผยแพร่ในเดือน ก.พ. โดยมีเนื้อความกล่าวหาว่าถูกพระบิดาจับเป็น “ตัวประกัน” จนเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับพระองค์เอง
เจ้าหญิงลาติฟาเคยพยายามหลบหนีจากพระบิดาเพื่อออกจากประเทศมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2018 แต่ถูกตามตัวพบ และจากนั้นก็ส่งวิดีโอลับให้เพื่อนเรื่อยมา โดยกล่าวหาว่าพระบิดากักขังพระองค์ไว้ในพระตำหนักตากอากาศ
ก่อนหน้านี้ ทั้งทางการนครรัฐดูไบและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างบอกว่าเจ้าหญิงปลอดภัยดีโดยอยู่ในการดูแลของครอบครัว
- เจ้าหญิงนครดูไบเผยถูกพระบิดา “ขัง” อยู่ในที่พัก
- เจ้าหญิงดูไบวอนตำรวจอังกฤษรื้อคดีลักพาตัวพี่สาว
- ศาลอังกฤษตัดสินเจ้าผู้ครองนครดูไบ ทรงลักพาตัวพระธิดาและข่มขู่พระชายา
- เจ้าหญิงลาติฟา พระธิดาผู้ต้องการหลบหนีจากพระบิดาเจ้าแห่งนครดูไบ
ในเดือนเดียวกันกับที่วิดีโอลับถูกเผยแพร่ เจ้าหญิงลาติฟา ทรงเขียนจดหมายร้องขอให้ตำรวจอังกฤษรื้อฟื้นการสอบสวนคดีลักพาตัวเจ้าหญิงชัมซา พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระองค์ที่ถูกพระบิดาลักพาตัวจากเมืองเคมบริดจ์กลับไปยังดูไบ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน
ในจดหมายฉบับดังกล่าวที่เปิดเผยแก่บีบีซี เจ้าหญิงลาติฟาทรงระบุกับตำรวจมณฑลเคมบริดจ์เชียร์ ซึ่งเป็นเจ้าของคดีว่า การเปิดการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ขึ้นอีกครั้งอาจช่วยให้เจ้าหญิงชัมซาที่ทรงถูกจับตัวไปตามคำสั่งของพระบิดาได้รับอิสรภาพอีกครั้ง
เจ้าหญิงชัมซา มีพระชันษา 18 ปี ตอนที่ถูกลักพาตัวไป ปัจจุบันพระองค์มีพระชันษา 39 ปี และไม่เคยปรากฏกายต่อสาธารณชนอีกเลยนับตั้งแต่ถูกลักพาตัวจากอังกฤษกลับดูไบ บุคคลใกล้ชิดระบุว่าพระองค์ถูกคุมขัง และถูกทรมานด้วยการเฆี่ยนตี รวมทั้งกลายเป็นผู้ไร้สติสัมปชัญญะ เพราะได้รับยากล่อมประสาทตลอดเวลา
บีบีซีได้ติดต่อขอให้รัฐบาลนครรัฐดูไบแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
จอร์แดน
เมื่อต้นเดือน เม.ย.ได้เกิดเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนเรียกว่า “วิกฤติในราชวงศ์จอร์แดน” หลังจากเจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน อดีตมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ทรงเปิดเผยในคลิปวิดีโอที่ทนายความส่วนพระองค์ส่งให้กับบีบีซีว่า ทรงถูกควบคุมตัวอยู่ในวังที่ประทับ อันเป็นผลมาจากการปราบปรามฝ่ายวิจารณ์รัฐบาล
- เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน ของจอร์แดน “ทรงถูกควบคุมตัวไว้ในบ้าน”
ในคลิปดังกล่าว เจ้าชายฮัมซาห์ ทรงกล่าวหาบรรดาผู้นำของจอร์แดนว่า ทุจริต ไร้ความสามารถ และข่มขู่คุกคาม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีการจับกุมตัวบุคคลสำคัญระดับสูงจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนก่อรัฐประหาร
ก่อนหน้านี้ กองทัพระบุว่า เจ้าชายฮัมซาห์ไม่ได้ทรงถูกกักบริเวณในวังที่ประทับ แต่ระบุว่า มีการสั่งให้พระองค์ทรงยุติการกระทำต่าง ๆ ที่อาจถูกใช้ในการโจมตี “ความมั่นคงและเสถียรภาพ” ของจอร์แดน
เจ้าชายฮัมซาห์ เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซน ผู้ล่วงลับของจอร์แดน กับสมเด็จพระราชินีนูร์ พระชายาที่พระองค์ทรงโปรดปรานที่สุด
เจ้าชายฮัมซาห์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารในปี 1999 และเป็นผู้ที่สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนทรงโปรดปรานที่สุด อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงถูกมองว่า ทรงพระเยาว์เกินไปและขาดประสบการณ์ในการที่จะสืบทอดราชบัลลังก์หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนในขณะนั้น
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ พระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์จึงได้ทรงขึ้นครองราชย์แทน และได้ถอดเจ้าชายฮัมซาห์ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารในปี 2004 กรณีนี้ได้สร้างความผิดหวังต่อสมเด็จพระราชินีนูร์ ซึ่งทรงหวังว่าจะได้เห็นพระราชโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์
- แพนดอรา เปเปอร์ส เปิดทรัพย์สินลับกษัตริย์จอร์แดน
เรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์จอร์แดนยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ได้เปิดเผยเอกสารลับที่มีชื่อว่า “แพนดอรา เปเปอร์ส” (Pandora Papers) ซึ่งเปิดโปงการซุกซ่อนทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน 35 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ได้จากบริษัท “ออฟชอร์” (offshore company) หรือบริษัทนอกประเทศที่รับบริหารจัดการทรัพย์สิน เพื่อหลบเลี่ยงภาษีและฟอกเงินรายได้ที่มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน
หนึ่งในผู้ที่ถูกเปิดโปง ก็คือกษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองแห่งจอร์แดน ซึ่งทรงเก็บสะสมทรัพย์สินเป็นการลับไว้ถึงกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรูปของอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากทั้งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ญี่ปุ่น
เจ้าหญิงมาโกะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นทรงเข้าพิธีเสกสมรส และจดทะเบียนสมรสอย่างเรียบง่ายกับนายเค โคะมุโระ พระสหายสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. หลังจากทรงหมั้นหมายกันมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2017
การสมรสครั้งนี้ทำให้พระองค์ต้องสละฐานันดรศักดิ์ และออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกวังในฐานะสามัญชนที่มีชื่อว่า “มาโกะ โคะมุโระ” โดยนอกจากอดีตเจ้าหญิงมาโกะและสามีจะเลือกไม่จัดพิธีเสกสมรสอย่างยิ่งใหญ่แล้ว ยังมีรายงานว่าเธอได้ปฏิเสธเงิน 150 ล้านเยน หรือราว 43 ล้านบาท ที่จะได้รับตามกฎของของสำนักในกรณีที่สละฐานันดรศักดิ์ไป
โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา อดีตเจ้าหญิงมาโกะ วัย 30 ปี และสามีที่อายุเท่ากัน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่น เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ ซึ่งนายโคะมุโระ ได้งานทำที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อดีตเจ้าหญิงผู้ทรงเป็นพระราชภาติยะ (ลูกน้องชาย) ในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ต้องผ่านอุปสรรคมากมายก่อนที่จะได้ใช้ชีวิตอิสระกับชายที่ตนรัก โดยเฉพาะกรณีพิพาทเรื่องเงินระหว่างมารดาของนายโคะมุโระและอดีตคู่หมั้นของเธอ ที่กล่าวหาว่าเธอติดหนี้เขาเป็นเงิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านบาท)
ในเดือน ก.พ. ปี 2018 เจ้าหญิงมาโกะ ทรงประกาศเลื่อนพิธีเสกสมรสออกไปเป็นปี 2020 โดยให้เหตุผลว่ามีเวลาไม่พอในการเตรียมงาน อย่างไรก็ตาม เจ้าชายฟุมิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพระบิดา ทรงเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ทั้งคู่จะไม่สามารถจัดพิธีเสกสมรสได้ หากยังไม่จัดการกับปัญหาเรื่องเงินเสียก่อน
- เส้นทางอันไม่ราบเรียบก่อนพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมาโกะ
- เจ้าหญิงมาโกะแห่งญี่ปุ่นทรงเลื่อนพิธีเสกสมรสออกไปจนถึงปี 2020
- ราชวงศ์ญี่ปุ่นเผชิญภาวะหดตัว เสี่ยงไร้รัชทายาทสำรองในอนาคต
ในที่สุด เจ้าชายฟุมิฮิโตะก็ทรงจำใจให้จัดพิธีเสกสมรสได้ หลังจากเจ้าหญิงมาโกะทรงออกแถลงการณ์เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2020 ว่า การเสกสมรสเป็น “ทางเลือกที่จำเป็น”
การเสกสมรสครั้งนี้ทำให้อดีตเจ้าหญิงมาโกะและสามีได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็น “แฮร์รี-เมแกน แห่งญี่ปุ่น” ที่ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ สิ่งที่คล้ายคลึงกันอีกอย่างก็คือ ทั้งเจ้าชายแฮร์รีและพระชายาต่างเปิดเผยว่าการถูกจับตามองจากสื่อได้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของทั้งสองพระองค์อย่างยิ่ง
โดยเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักพระราชวังญี่ปุ่นออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหญิงมาโกะเผชิญกับภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง หรือ PTSD หลังจากสาธารณชนคอยตามวิพากษ์วิจารณ์ที่พระองค์ทรงเลือกที่จะแต่งงานกับนายโคะมุโระอย่างไม่หยุดหย่อน
ส่วนเจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ทรงประกอบพิธีบรรลุนิติภาวะตามโบราณราชประเพณี หลังจากเจริญพระชันษาครบ 20 ปีโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ในแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังญี่ปุ่น เจ้าหญิงไอโกะ ระบุว่า นับจากนี้จะทรงมุ่งมั่นพัฒนาพระองค์เอง เพื่อการเป็น “ผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ” และการทรงงานเพื่อแบ่งเบาพระราชภารกิจของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี และเพื่อพสกนิกร
ปัจจุบัน เจ้าหญิงไอโกะทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาคุชูอิน ตามกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นพระองค์จะไม่สามารถสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาได้ เนื่องจากเป็นผู้หญิง และหากอภิเษกสมรสกับสามัญชนก็จะต้องสละฐานันดรศักดิ์ และออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกวังในฐานะสามัญชนแบบเดียวกับอดีตเจ้าหญิงมาโกะ
……………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว