สถานีอวกาศนานาชาติเตรียมตกสู่ “สุสานยานอวกาศ” กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ในอีก 8 ปีข้างหน้า

Home » สถานีอวกาศนานาชาติเตรียมตกสู่ “สุสานยานอวกาศ” กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ในอีก 8 ปีข้างหน้า


สถานีอวกาศนานาชาติเตรียมตกสู่ “สุสานยานอวกาศ” กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ในอีก 8 ปีข้างหน้า

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา แถลงว่าได้เตรียมยุติการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station-ISS) ในปี 2030 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า และจะบังคับให้ตกกลับคืนสู่โลกในช่วงต้นปี 2031

จุดที่ซากของสถานีอวกาศนานาชาติจะตกลงมานั้น เรียกว่า “พอยต์นีโม” (Point Nemo) หรือ “สุสานยานอวกาศ” ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์กับพื้นที่ชายฝั่งของประเทศชิลี จัดเป็นน่านน้ำที่อยู่ห่างไกลจากผืนแผ่นดินมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นระยะห่างถึงเกือบ 2,700 กิโลเมตร

แผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายโอนภาระงานด้านกิจการอวกาศในวงโคจรระดับต่ำของโลก (low-Earth orbit) จากที่เคยอยู่ในความดูแลขององค์การนาซาเป็นหลัก ไปสู่การเปิดเสรีเชิงพาณิชย์ให้กับภาคเอกชนอย่างเต็มตัว ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างและบริหารสถานีอวกาศของเอกชนด้วย

เดิมทีนั้นสถานีอวกาศนานาชาติถูกสร้างขึ้นและบริหารด้วยความร่วมมือขององค์กรอวกาศภาครัฐจาก 5 ประเทศ โดยขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกเมื่อปี 1998 และมีนักบินอวกาศประจำการอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2000 เป็นสถานที่ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงมาแล้วกว่า 3,000 การทดลองด้วยกัน

ปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาดำเนินภารกิจออกไปจนถึงปี 2024 แต่มีแนวโน้มว่าจะสามารถขยายเวลาต่อไปได้อีกจนถึงปี 2030 โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติภาคีความร่วมมือทั้ง 5 ประเทศเสียก่อน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า จะสนับสนุนการขยายเวลาไปจนถึงปี 2030 อย่างแน่นอน

ฟิล แมคาลิสเตอร์ ผู้อำนวยการด้านพื้นที่อวกาศเชิงพาณิชย์ของนาซาบอกว่า “ภาคเอกชนนั้นมีความพร้อมทั้งในเชิงเทคนิคและการเงิน ในการเข้ามาพัฒนาและบริหารสถานที่ในวงโคจรระดับต่ำของโลก โดยพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากนาซาด้วย”

ยานของบริษัทสเปซเอ็กซ์ขนส่งผู้คนและสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

ที่มาของภาพ, Reuters

เมื่อปี 2020 นาซาได้มอบสัมปทานให้กับบริษัท Axiom Space เพื่อสร้างโมดูลที่นักบินอวกาศใช้อยู่อาศัยและนำไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ นอกจากนี้ยังมอบเงินทุนอีก 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ 3 บริษัท ซึ่งได้แก่ Blue Origin, Nanoracks และ Northrop Grumman เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อให้คิดค้นพัฒนาสถานีอวกาศรวมทั้งสถานที่ในอวกาศรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นอีกด้วย

นาซาหวังว่าสถานีอวกาศที่เอกชนพัฒนาขึ้นนี้ จะสามารถใช้งานได้อย่างน้อยในบางส่วน ก่อนที่สถานีอวกาศนานาชาติจะถูกปลดระวางในปี 2031 นาซายังแถลงว่า “เราต้องการสร้างเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูจากการพาณิชย์ในวงโคจรระดับต่ำของโลก โดยมีชาวอเมริกันเป็นผู้นำ”

การถ่ายโอนภาระงานในพื้นที่อวกาศใกล้โลกให้แก่ภาคเอกชนนี้ จะช่วยให้นาซาสามารถประหยัดงบประมาณลงได้ถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะนำเงินที่เหลือไปใช้ในการสำรวจห้วงอวกาศลึกต่อไป

คาดว่าในปี 2025 นาซาจะคัดเลือกโครงการสถานีอวกาศของเอกชนอย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อทำสัญญาเช่าเป็นสถานที่ปฏิบัติการให้กับนักบินอวกาศของตนในอนาคต ส่วนในช่วงต้นทศวรรษ 2030 นั้น นาซาคาดว่าจะสามารถเช่าสถานีอวกาศของเอกชนเพื่อใช้ทำการทดลองต่าง ๆ ได้มากแห่งขึ้น รวมทั้งจะเปิดให้ภาคธุรกิจทั่วไปเช่าพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย

……………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ