สตาร์หายไปไหน : ทำไม ไชนีส ซูเปอร์ลีก ไม่ทุ่มซื้อนักเตะดังเหมือนในอดีต ?

Home » สตาร์หายไปไหน : ทำไม ไชนีส ซูเปอร์ลีก ไม่ทุ่มซื้อนักเตะดังเหมือนในอดีต ?

ซัมเมอร์ 2021 ข่าวการซื้อขายในฟุตบอลยุโรปร้อนแรงมาก แต่คุณสังเกตไหมว่า มีบางอย่างขาดหายไปจากที่เคยเป็นมาตลอด 4-5 ปีหลังสุด ?

ไม่มีอีกแล้วข่าวทีมจาก ไชนีส ซูเปอร์ลีก ล่าตัวนักเตะระดับโลก ไม่มีอีกแล้วการจ่ายค่าเหนื่อยแสนแพงให้กับนักเตะแถวหน้า รวมไปถึงการล่าโค้ชมือทองเข้ามาสร้างทีมเพื่อเป็นแชมป์ 

เกิดอะไรขึ้นกับวงการฟุตบอลจีน ทำไมอยู่ดี ๆ พวกเขาก็เลิกจ่ายเงิน และอยู่กันแบบเงียบ ๆ

เล่ากันตั้งแต่ต้นจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่นี่ ติดตามได้ที่ Main Stand

จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ 

ฟุตบอลลีก คือฐานความแข็งแกร่งของทีมชาติ ลีกที่ดีย่อมสร้างนักเตะที่แข็งแกร่ง หลายประเทศเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่ที่ประเทศจีน 

จีน ไม่ใช่ชาติที่ประสบความสำเร็จด้านฟุตบอล ทั้งระดับนานาชาติและระดับทวีป คุณภาพของลีกไม่แข็งแกร่งเท่ากับกราฟการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

 

จริงอยู่ที่มันอาจจะเป็นเรื่องที่เอามาเปรียบเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้ เพราะฟุตบอลกับเศรษฐกิจมีบริบทที่ต่างกัน ทว่าทุกคนต่างรู้ดีว่าในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ทีมจากจีนไม่ใช่สโมสรที่เป็นตัวเต็งหรือทำได้ดีในการแข่งขันระดับทวีปเลย พวกเขาเป็นได้เพียงไม้ประดับเท่านั้น และในนามทีมชาติพวกเขาก็ยังคงตามหลังบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ อยู่พอสมควร

ทว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่โดนมองข้าม รัฐบาลจีนในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนให้ทีมในลีกนี้กลายเป็นพี่บิ๊กระดับทวีป ซึ่งถ้าหากทำได้ มันจะเป็นเหมือนกับโดมิโนเอฟเฟ็กต์ ที่ทำให้คุณภาพของทีมชาติจีนดีขึ้นไปด้วย เพราะเมื่อลีกแกร่ง นักเตะท้องถิ่นก็เก่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปี 2014 ท่านประธานาธิบดี สี เริ่มวางวิสัยทัศน์ เขาผลักดันนโยบายที่มีชื่อว่า A 50-point plan เพื่อทำให้ประเทศจีนกลายเป็นพี่บิ๊กด้านฟุตบอลของทวีปเอเชีย 

“ฟุตบอลคือเกมที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายของผู้คน สร้างแรงบันดาลใจได้มากอย่างเหลือเชื่อ และที่สำคัญคือ สามารถสร้างจิตวิญญาณนักสู้ให้ลุกโชน ดังนั้นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมสำหรับวงการฟุตบอลจีน คือการได้เห็นเราเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก” ท่านประธานาธิบดีว่าไว้ก่อนที่นโยบายของเขาจะถูกริเริ่ม

 

พิมพ์เขียวของ สี เริ่มจากการสร้างโรงเรียนฟุตบอลใหม่กว่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 หมื่นแห่งในเวลาต่อมา มีการโฆษณาว่าฟุตบอลสเตเดียมจะถูกสร้างขึ้นทั่วประเทศ จากนั้นพวกเขาจะพยายามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก และวางแผนไว้ว่าความสำเร็จจะต้องมาถึงภายในปี 2050 นั่นคือเรื่องของการพัฒนาทีมชาติ

ส่วนเรื่องการพัฒนาลีกในประเทศก็อลังการงานสร้างไม่ต่างกัน นโยบายสร้างบอลลีกของจีนถือเป็นการลงทุนในแบบที่ใส่ปุ๋ยดูแลตั้งแต่ราก นั่นคือการสร้างเยาวชนในระบบให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย Know How แบบฟุตบอลยุโรป นอกจากนี้ยังใส่ปุ๋ยเร่งดอกเร่งผลด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และผลักดันให้แต่ละสโมสรสามารถใช้เงินซื้อนักเตะดัง ๆ มาร่วมทีมได้ 

ถามว่าพวกเขาเอาเงินมาจากไหน ? ประการแรกเลย ฟุตบอลจีนยุคก่อนหน้านี้ได้รับความสนใจน้อยมาก แต่เมื่อท่านประธานาธิบดีแสดงวิสัยทัศน์ที่จะผลักดันทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลไปข้างหน้า นั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลจากภาครัฐกำลังจะเข้ามาช่วยพยุงลีกฟุตบอลของจีน 

เพราะแต่เดิมแล้ว สโมสรมีสถานะเป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน แต่ละทีมต่างมีภาคเอกชนหนุนหลัง (ดูได้จากชื่อทีมที่มักเป็นชื่อเมืองกับบริษัทผสมกัน) เมื่อได้เงินจากภาครัฐในท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนเสริม ทำให้พวกเขามีเงินทุ่มซื้อนักเตะดัง ๆ ในราคาแพง ๆ ชนิดที่ทีมยุโรปบางทีมยังทำได้แค่นั่งมองตาปริบ ๆ 

ในขณะที่บางทีมมีเจ้าของเป็นภาคเอกชนล้วน ๆ อย่างเช่น กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ แม้การมาทำฟุตบอลอาจจะทำให้พวกเขาได้กำไรน้อยมาก แต่สิ่งที่ภาคเอกชนจะได้คือการได้คอนเน็กชันในภาครัฐ เปรียบเทียบภาพง่าย ๆ พวกเขาเป็นเหมือนผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของฟุตบอล แต่ต้องการผลลัพธ์ในแง่บวกสำหรับธุรกิจหลักของตัวเองมากกว่า

 

รัฐบาลจีน ยังช่วยให้การลงทุนกับฟุตบอลของภาคเอกชนมีความเสี่ยงน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลจีนเพิ่มรายได้ให้กับลีก ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล ไชนีส ซูเปอร์ลีก ด้วยเงิน 8 พันล้านหยวน (ราว 41,000 ล้านบาท) เป็นต้น 

มีการรวบรวมสถิติการใช้เงินยุคลีกจีนเฟื่องฟู ปรากฎว่าพวกเขาใช้เงินในการซื้อนักเตะมากกว่า เจลีก ของประเทศญี่ปุ่นถึง 3 เท่า และมากกว่า เคลีก ของเกาหลีใต้ถึง 10 เท่า … ทั้งหมดนี้คือช่วงเวลาที่หน้าข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเล่นข่าวนักเตะดังกับลีกจีนไม่เว้นแต่ละวัน เพราะที่นี่ขึ้นชื่อว่าทุ่มไม่อั้น เพื่อจูงใจนักเตะให้หันมามอง และให้โลกฟุตบอลต้องรู้สึกว่าความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลจีนกำลังจะมาถึง

ชักเข้าท่า แต่ว่า… 

หลังจากการทุ่มเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่มีอะไรหยุดลีกฟุตบอลของประเทศจีนได้อีกแล้ว นักเตะที่เข้ามาก็เป็นนักเตะเบอร์ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาสามารถแย่งนักเตะเก่ง ๆ กับทีมในยุโรปได้สบาย ๆ อีกทั้งจำนวนคนดูฟุตบอลในสนามก็เพิ่มมากขึ้น ยอดชมการถ่ายทอดสดก็มากขึ้นตาม

 

และแน่นอน สโมสรอย่าง เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี และ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ต่างประสบความสำเร็จในการแข่งขัน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก โดยเฉพาะ กว่างโจว นั้นได้ครองแชมป์ถึงสองสมัยเลยทีเดียว ไม่เลวเลยสำหรับลีกที่เพิ่งบูมได้ไม่กี่ปี 

ทุกอย่างดูดีไปหมด มองอะไรก็เป็นแง่บวก แต่ในขณะนั้นความเสี่ยงก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน และเป็นความเสี่ยงที่หลายคนยังไม่รู้ตัว 

ลีกเริ่มแข็งแกร่งแล้ว คนเริ่มเยอะ แถมยังประสบความสำเร็จในระดับทวีป มีอะไรให้ต้องเป็นห่วงอีก ? คำตอบคือ มันไม่ตรงตามวิสัยทัศน์และนโยบายที่วางไว้แต่แรกนั่นเอง

ประการแรกคือ นักเตะท้องถิ่นไม่ได้เก่งกาจอย่างที่ควรจะเป็น ลีกจีนขับเคลื่อนด้วยความแตกต่างของนักเตะต่างชาติที่เข้ามาเพราะค่าจ้าง นักเตะเบอร์ใหญ่เหล่านี้ถูกมองเป็นเหมือนทหารรับจ้าง พวกเขาบางส่วนไม่ได้อินกับแพชชั่นหรือความพัฒนาและก้าวหน้าของทีม แต่มาเพราะเงิน และวันไหนที่เงินหมดพวกเขาก็จะไป แม้จะดูโหดร้ายแต่มันคือความจริง เพราะเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นเพราะค้าจ้าง พวกเขามาเล่นที่นี่เพื่อสิ่งนี้

 

อะไรคือหลักฐานว่านักเตะจีนไม่ได้เก่งขึ้นเท่าที่รัฐบาลหวัง กล่าวคือพวกเขาอยากจะเห็นทีมเป็นแชมป์โลกในปี 2050 นั่นคือแผนระยะยาวก็จริง แต่แผนระยะสั้นคือ จีนไม่ได้มีผลงานในระดับชาติที่กระเตื้องขึ้นนัก 

ก่อนนโยบายของรัฐบาลจะเริ่ม พวกเขาอยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก และทุกวันนี้ จีนขยับขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้นด้วยการเป็นทีมอันดับที่ 75 ของโลก … 10 ปีขึ้นมา 2 อันดับ ถ้าเทียบตามบัญญัติไตรยางค์ หากพวกเขาต้องการจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก จีนจะต้องใช้เวลามากกว่าแผนที่วางไว้ (ปี 2050) อย่างไม่ต้องสงสัย

ประการที่สอง นักเตะมาที่นี่ด้วยเงิน รัฐไม่ได้ค้างคาใจกับเรื่องนี้นัก เพราะนั่นคือการสร้างแรงจูงใจให้นักเตะเหล่านั้นย้ายมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการลงทุนของรัฐบาลจีนไม่ได้ทำให้คนจีนเก่งขึ้น หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นในแง่ของภาพรวม แต่กลับกลายเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์แบบได้น้ำได้เนื้อ ซึ่งไม่ใช่แค่นักเตะเท่านั้น แต่รวมถึงเหล่าเอเยนต์ที่เข้ามาฟันผลประโยชน์จากเงินทุนมหาศาลของจีน

เมื่อทั้งผลลัพธ์และวิธีการดูจะผิดเพี้ยนจากที่ตั้งไว้ในตอนแรก รัฐบาลจีนจึงพยายามแก้ปัญหานี้แบบช็อตต่อช็อต เมื่อทีมซื้อนักเตะแพงเกินไป พวกเขาก็ติดเบรกด้วยการออกกฎหมายเพิ่มภาษี 100% สำหรับนักเตะต่างชาติที่ราคาเกิน 5 ล้านปอนด์ 

กล่าวคือหากคุณซื้อนักเตะชาวบราซิล ในราคา 10 ล้านปอนด์ สโมสรจะต้องจ่ายเงินค่าภาษีอีก 10 ล้านปอนด์ โดยเงินทั้งหมดจะถูกเอาไปรวมกับงบประมาณการสร้างอคาเดมีและพัฒนานักเตะเยาวชนจีน

ทีมไหนกล้าซื้อนักเตะแพงก็ต้องกล้าจ่ายเงินภาษีก้อนนี้ และรัฐบาลก็พยายามหาทางออกด้วยการเอาเงินภาษีที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด แต่สำหรับคนลงทุนนั้นไม่สนุกด้วย ปาร์ตี้ของพวกเขาใกล้จะจบลงแล้ว

ลีกจีน เลิกทุ่ม

การใช้เงินของประเทศ แต่คนของเขาได้ประโยชน์น้อยกว่าชาวต่างชาตินั้น ถือว่าผิดอย่างแรงและขัดต่อวิสัยทัศน์ China First (จีนต้องมาก่อน) ที่รัฐบาลจีนพยายามผลักดัน 

และเมื่อการทุ่มไม่ใช่คำตอบ ฤดูกาล 2019 จีนจึงพยายามสร้างแนวทางใหม่ พวกเขาจะทำให้ทุกทีมใช้จ่ายกับนักเตะต่างชาติน้อยลง โดยเรียกนโยบายนี้ว่า “การเริ่มต้นเส้นทางที่ยั่งยืน” นั่นคือคำในแง่บวกที่พวกเขาพูดถึงการปรับโครงสร้างของลีก 

นี่คือนโยบายยาขมที่บังคับให้ทุกสโมสรต้องกินมันเข้าไป โดยบอกว่ามันจะดีต่อสุขภาพในระยะยาว … เพราะนโยบายนี้หมายถึงการตัดทุกสิ่งที่เกี่ยวกับนายทุนออกไปโดยสิ้นเชิง

รัฐบาลจีนออกกฎห้ามสโมสรใช้ชื่อสปอนเซอร์ต่อท้ายชื่อทีม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทันได้สังเกต แต่ตอนนี้ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์, เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี และ ซานตง ลู่เหนิง ชื่อที่คุ้นหูเหล่านี้กลายเป็นตำนานไปแล้ว พวกเขากลายเป็น กว่างโจว เอฟซี, เซี่ยงไฮ้ พอร์ต และ ซานตง ไท่ซาน ไปเป็นที่เรียบร้อย มีเพียง ปักกิ่ง กั๋วอัน ทีมเดียวที่ยังรอดไม่ถูกเปลี่ยนชื่อ เพราะแฟนบอลชาวเมืองออกมาต่อต้านจนต้องยอมยกประโยชน์ให้

เงินก็โดนตัด ชื่อก็ไม่ได้ใช้ โฆษณาก็ไม่ได้ขาย แถมชื่อเสียงก็ลดลง แบบนี้เป็นใครก็อยู่ไม่ได้ กลุ่มนักลงทุนเริ่มถอนตัวเพราะพวกเขาได้กลิ่นของธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำอีกระลอก ที่แฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามไม่ได้ตามมาตรการของรัฐบาล ทีนี้ปัญหาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ตามมาเล่นงานลีกจีนแล้ว

ทั้งรัฐบาล และสมาคมฟุตบอลจีน (ซีเอฟเอ) ก็พยายามแก้และปรับกฎกันไปเรื่อย ๆ ระหว่างทาง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลงตัวที่สุด นั่นคือการเริ่มลดภาระค่าใช้จ่ายให้น้อยลง เน้นไปที่การใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้มากขึ้น 

ดังนั้น กลุ่มนักเตะที่ค่าเหนื่อยแพงที่ส่วนใหญ่เป็นแข้งต่างชาติ จึงถูกเจรจาเพื่อต่อรองค่าเหนื่อยใหม่ นักเตะอย่าง ออสการ์ ยอมลดค่าจ้างเพื่อให้ได้เล่นกับทีม เซี่ยงไฮ้ พอร์ต ต่อไป เช่นเดียวกันกับ มารูยาน เฟลไลนี ที่ยังค้าแข้งอยู่ในลีกจีน ณ เวลานี้ 

ขณะที่คนที่ไม่ยอมลดค่าจ้างก็ต้องโยกย้าย เช่น ฮัลค์ ย้ายกลับไปเล่นในลีกบราซิล, มาร์โก อาร์เนาโตวิช ย้ายกลับไปเล่นใน เซเรีย อา อิตาลี ขณะที่ เปาลินโญ่ และ อันแดร์สัน ทาลิสก้า จาก กว่างโจว เอฟซี ก็ไม่ได้กลับมาเล่นให้กับทีมอีกเลยหลังจากมาตรการล็อกดาวน์ จนในที่สุดพวกเขาก็ย้ายทีมไป ทาลิสก้า ไปเล่นให้กับ อัล นาสเซอร์ ใน ซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ เปาลินโญ่ ก็เซ็นสัญญากับ อัล อาห์ลี ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ทุกอย่างเห็นภาพชัดขึ้นว่าลีกจีนได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่ได้ใช้เงินซีซั่นละ 300-400 ล้านปอนด์เหมือนแต่ก่อน ยากมากที่นักเตะดัง ๆ จะย้ายเข้ามาเล่นในลีกจีนอีก หากยังไม่มีการเปลี่ยนนโยบายใหม่ เพราะในซีซั่น 2021 นี้ ลีกจีนใช้เงินไปน้อยมาก นักเตะที่แพงที่สุดในตลาดซื้อขายคือ อันเต มาสโตโรวิช กองหลังชาวโครเอเชีย ที่มีราคาแค่ 3 ล้านปอนด์เท่านั้น นี่คือช่วงเวลาที่เรียกว่าฟองสบู่แตกได้อย่างแท้จริง 

นี่คือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่เหมือนกับการห้ามเลือดไม่ให้ไหลออกจากร่างกายไปมากกว่านี้ ลีกจีนกำลังจะกลับสู่พื้นฐานที่ชาติที่ประสบความสำเร็จด้านฟุตบอลทั่วโลกทำกัน พวกเขาจะใช้เงินกับการสร้างนักเตะท้องถิ่น พัฒนาเยาวชน และเพิ่มฐานพีระมิดของลีกให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับบุคลากรฟุตบอลที่จะเพิ่มขึ้นตามนโยบายฟุตบอลก้าวหน้า ในรูปแบบของ “จีนต้องมาก่อน” 

แม้จะดูคล้ายกับการล่มสลาย แต่นี่คือเวลาที่พวกเขาจะได้กลับสู่เส้นทางที่ถูกต้อง จริงอยู่ที่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าเดิม และได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศน้อยลงกว่าเดิมแต่ก็ต้องยอมแลก และปรับตัวไปตามสถานการณ์ 

อย่างไรก็ตาม พวกเขายังไม่ลืมความฝันที่จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และเป็นทีมหัวแถวของโลก เพราะแม้จะไม่สนับสนุนให้ใช้เงินเยอะสำหรับนักเตะต่างชาติ แต่อย่างน้อย ๆ ตอนนี้นักเตะอย่าง เอลเคสัน (อ้าย เค่อเซิน), อลัน คาร์วัลโญ่ (อา หลัน), อลอยซิโอ (หลัว กั๋วฝู) และอีกหลาย ๆ คน ก็ได้รับอนุญาตให้โอนสัญชาติมาเล่นให้กับทีมชาติจีนได้แล้ว พร้อมได้ชื่อแซ่แบบจีนเสร็จสรรพ 

และถึงแม้ว่าการโอนสัญชาติจะเป็นการพัฒนาแบบฉาบฉวย แต่สิ่งที่แน่นอนคือทีมชาติจีนจะแข็งแกร่งขึ้น และนี่ก็ไม่หลุดจากนโยบายจีนต้องมาก่อน และจะทำให้ทุกอย่างยังพอไหลไปข้างหน้าได้บนเส้นทางที่ตั้งไว้ 

“เคารพกฎของฟุตบอล เคารพกฎหมาย ยึดมั่นในการสร้างนักเตะเยาวชน และลงมือทำงานเพื่อความสำเร็จระยะยาว” นี่คือคำจำกัดความที่เกิดขึ้นกับฟุตบอลจีนที่เว็บไซต์ ซินหัว สรุปใจความเอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรจะชัดเจนไปมากกว่านี้อีกแล้ว 

ฟุตบอลจีน อาจจะถูกเรียกว่าฟุตบอลจนในสายตาชาวโลก แต่ในความจริงแล้วพวกเขากำลังกลับสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นต่างหาก แม้จะไม่คุ้นเคย แต่การปรับตัวจะช่วยพวกเขาได้ ส่วนนโยบายแชมป์โลกตอนปี 2050 นั้นอาจจะต้องรอไปก่อน … เพราะนี่คืองานหนักที่ต้องการการลงมืออย่างสม่ำเสมอ และจีนยังต้องหาคำตอบให้ได้ว่าพวกเขาพร้อมจะเหนื่อยกับการลงทุนระยะยาวแล้วหรือยัง ?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ