สตรี รทสช. หนุน แนวคิด บิ๊กตู่ สร้างความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนนโยบายให้สตรี มีความเข้มแข็ง เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน การมีโอกาสได้ทำงานระดับแถวหน้าขององค์กร ช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน
8 มี.ค. 66 – ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช,นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี,น.ส.ณัฐวรินธร บวรภัควุฒิศิริ และ น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติร่วมทำกิจกรรมลงพื้นที่รณรงค์สิทธิสตรี เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม
โดยลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจสตรีทุกวัย พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือสนับสนุนผู้หญิง ตามแนวคิด “พลังสตรีเด็ก และเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี
น.ส.ศิรินันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้นในหลายๆด้าน ผู้หญิงมีพื้นที่ในสังคม แต่ก็ยังมีบางจุดที่ตนอยากจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้ผู้หญิงรับทราบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง
ที่ผ่านมารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการมาตลอด เช่น โครงการมารดาประชารัฐ มีเงินช่วยเหลือและสิทธิพิเศษให้เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เช่น เงินช่วยเหลือหลังคลอด 600 บาทต่อเดือน เงินช่วยเหลือการตรวจโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และภาวะดาว์นซินโดรมในเด็กทารกในหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
โดยมีแนวคิดในการลดเงื่อนไขการรับสิทธิเพื่อขยายสิทธิ์ให้เข้าถึงสตรีในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีการจำกัดฐานรายได้ของผู้หญิงที่จะได้รับบริการนี้ เช่น สตรีวัยทำงานที่มีรายได้ไม่เพียงพอ เช่น กลุ่มสตรีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนน้อย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งหากมีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นตัวแทนก็อยากจะผลักดันให้ขยายกลุ่ม โดยการเพิ่มโอกาสให้กับสตรีกลุ่มนี้ด้วย
“กลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะติดจากคู่สมรส หรือไม่ อยากให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รับโอกาสในสังคม ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เราต้องให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับผู้หญิงทุกคน เช่น การตรวจเชื้อ HIV ฟรี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย เพราะ HIV รู้ไว รักษาทัน และในส่วนของการบริการด้านสุขภาพของรัฐก็ให้การรักษาเป็นอย่างดีด้วย” น.ส.ศิรินันท์ กล่าว
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานได้เทียบเท่าผู้ชายในสายอาชีพต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ตนมองว่ายังมีอีกหลายจุดที่ควรได้รับการส่งเสริม เช่น กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่แม้ว่าจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะต้องทำงานและยังต้องเลี้ยงดูลูกด้วย
โดยเฉพาะกลุ่มที่มีลูกเล็กๆ ทำให้บางครั้งไม่สามารถที่จะมีอาชีพที่มั่นคงได้ ดังนั้นอยากหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถทำงานเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่
แนวทางหนึ่งที่ตนคิดว่า สามารถทำได้และพยายามจะผลักดันคือการทำให้เกิดข้อกำหนดทางกฎหมาย หรือข้อบังคับเพื่อสามารถช่วยเหลือกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การออกข้อกำหนดหรือสิทธิพิเศษให้ภาคธุรกิจหรือเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถทำงานได้โดยไม่มีข้อกังวล เช่น การจัดให้มีเนิร์สเซอรี่ในที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน
นางรัดเกล้า กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังอยากผลักดันให้เพิ่มโอกาสในความก้าวหน้าในการทำงานให้กับผู้หญิง ปัจจุบันในบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ เช่น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็มีข้อกำหนดเหล่านี้บรรจุใน DJSI ที่มีเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมระหว่างชายหญิง โดยไม่ได้ดูแค่จำนวนการทำงานของผู้หญิงในบริษัทเท่านั้น แต่ยังมีเกณฑ์ลงลึกไปถึงความสามารถ หรือการเติบโต หรือตำแหน่งในหน้าที่การงานของผู้หญิงด้วย
ดังนั้นตนจึงคิดว่าในการทำงานของผู้หญิงโดยเฉพาะในภาคของการเมืองจึงควรจะมีการส่งเสริมผู้หญิงในการทำงานระดับกลไกนี้ด้วยเช่นกัน
น.ส.พัชรนันท์ กล่าวว่า ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคแบบยั่งยืนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย และยังเป็นไปตามนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะเห็นได้ว่า พรรคเองก็ให้ความสำคัญกับการทำงานของผู้หญิง และมีว่าที่ผู้สมัครหญิงหลายคน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน
อยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน โดยในส่วนของตนอยากให้มีนโยบายสนับสนุนผู้หญิงในทุกช่วงวัย และไม่ว่าทุกคนจะมาจากไหน อยากให้ออกมาแสดงความสามารถ ภายใต้การส่งเสริมของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน
น.ส.ณัฐวรินธร กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงถือว่า ได้รับการยอมรับมากขึ้น ตามแนวคิด พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งในการทำงานของตน ก็มีแนวคิดที่อยากจะขับเคลื่อน ส่งเสริมผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมเสมอภาคกันระหว่างหญิงชายในทุกภาคส่วนของสังคม
รวมถึงความเท่าเทียมกันในองค์กร บริษัท ที่ทำงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมายังคงพบว่ามีการละเมิดสิทธิ์ การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง หรือ ผู้ร่วมงานด้วยกันเอง ดังนั้นจึงอยากเป็นตัวแทนของผู้หญิงเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อผู้หญิงรวมถึงทุกคนอย่างเสมอภาค