สงครามยูเครน นาโต้ย้ำยูเครนต้องเป็นสมาชิก-ยันหนุนร่วมวงถึงที่สุด

Home » สงครามยูเครน นาโต้ย้ำยูเครนต้องเป็นสมาชิก-ยันหนุนร่วมวงถึงที่สุด


สงครามยูเครน นาโต้ย้ำยูเครนต้องเป็นสมาชิก-ยันหนุนร่วมวงถึงที่สุด

สงครามยูเครน นาโต้ย้ำยูเครนต้องเป็นสมาชิก-ยันหนุนร่วมวงถึงที่สุด

สงครามยูเครน – วันที่ 20 เม.ย. รอยเตอร์รายงานว่า เลขาธิการใหญ่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ กล่าวย้ำว่า การเป็นสมาชิกนาโต้นั้นคือตำแหน่งแห่งที่ที่ชอบธรรมของยูเครน ท่ามกลางความไม่พอใจของทางการรัสเซียที่ยืนกรานให้ยูเครนดำรงความเป็นกลาง

คำกล่าวของนายเย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต้ เกิดขึ้นหลังการเดินทางเยือนกรุงเคียฟครั้งแรกหลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ส่งกองทัพรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อ 14 เดือนที่ผ่านมา สร้างความหวาดวิตกให้ประชาคมโลกว่าการสู้รบอาจลุกลามบานปลาย

สงครามยูเครน

เย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการใหญ่นาโต้ (ซ้าย) หารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อ 20 เม.ย. (รอยเตอร์)

นายสต็อลเตินบาร์ก ระบุว่า ” ขอผมพูดให้ชัด ตำแหน่งแห่งที่ที่ชอบธรรมของยูเครนนั้นอยู่กับครอบครัวยุโรป-แอตแลนติก และนาโต้ของเรา การสนับสนุนของพวกเราจะทำให้ยูเครนได้เข้าร่วมกับพวกเราได้ในที่สุด”

เลขาธิการใหญ่นาโต้ยังยืนยันด้วยว่าจะเดินหน้าสนับสนุนยูเครนทางด้านการทหารต่อไป โดยบรรดาชาติสมาชิกนาโต้นั้นมีส่วนร่วมในการฝึกฝนทหารยูเครนหลายหมื่นนาย และให้ความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์แล้วเป็นมูลค่ากว่า 7.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.4 ล้านล้านบาท

“นาโต้จะอยู่เคียงข้างท่านในวันนี้ พรุ่งนี้ และตราบนานเท่าที่ท่านต้องการ” นายเย็นส์ ระบุ พร้อมกล่าวเชิญประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เดินทางไปร่วมประชุมนาโต้ ที่กรุงวิลนีอัส ประเทศลิทัวเนีย เดือนก.ค.นี้

สงครามยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (แฟ้มภาพรอยเตอร์)

สำหรับหนึ่งในประเด็นการหารือของประชุมนาโต้เดือนก.ค.นี้ จะเป็นการข้อเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน และการการันตีความมั่นคงของยูเครน หลังการประชุมนาโต้ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เมื่อปี 2551 นาโต้ยืนยันว่า ยูเครนจะได้เข้านาโต้เมื่อเวลาผ่านไปในที่สุด

โดยคำกล่าวของนาโต้เมื่อปี 2551 นี้เองที่นักวิชาการบางส่วนจากสหรัฐอเมริกา มองว่าอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจส่งกองทัพเข้ายึดครองแคว้นไครเมียต่อมาในปี 2557 กระทั่งนำมาสู่การรุกรานยูเครนในที่สุด

ขณะที่ฝ่ายนาโต้และสหรัฐอเมริกานั้นปฏิเสธที่จะทำตามคำเรียกร้องของทางการรัสเซียที่ต้องการให้ยูเครนเป็นกลาง โดยยืนยันว่าจะต้องเป็นความประสงค์ของทางการยูเครนเท่านั้น

“เราไม่อาจทราบได้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นจะยุติลงเมื่อใด ทว่า การรุกรานของรัสเซียนั้นเป็นรูปแบบการบ่อนทำลายซึ่งจำเป็นต้องถูกหยุดยั้งลงให้จงได้” สต็อลเตินบาร์ก ระบุ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ