สร้างความตื่นตัวในสังคมอย่างกว้างขวาง สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566
โดยนอกจากคุณสมบัติผู้สมัครและนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดชัยชนะเช่นกัน
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละพรรคที่ลงแข่งขันเลือกตั้ง เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ไม่เกินพรรคละ 3 รายชื่อ โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือผู้ที่จะได้รับการพิจารณา ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน นั่นก็คือ 25 คน
ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ มีการเสนอรายชื่อแคนดิเดต นายกฯ มากถึง 63 คน จาก 43 พรรคการเมือง แต่ในจำนวนนี้ ใครจะได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะต้องผ่านเกณฑ์ส.ส. 25 คนเสียก่อน
ควบคู่ไปกับเงื่อนไขพิเศษตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ 250 ส.ว.มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ส.ว.จะมีอำนาจดังกล่าว
ทำให้ผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องสามารถรวบรวมเสียงได้ไม่น้อยกว่า 376 เสียงจากเสียงทั้ง 2 สภารวมกันทั้งหมด 750 เสียง
ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
‘ข่าวสดเลือกตั้ง’ สัปดาห์นี้จะพาไปทำความรู้จักกับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมือง ที่มีโอกาสสูงสุดที่จะผ่านเงื่อนไขมหาโหดเหล่านี้ ยืนหนึ่งให้สภาพิจารณา มีใครบ้าง
ต้องตามไปดูกัน!!
เริ่มต้นที่พรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะเป็นพรรคตั้งใหม่ แต่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. และนายกฯ 2 สมัยมาเป็น 1 ในแคนดิเดต ร่วมกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคที่ถูกวางตัวเป็นทายาทรับไม้ต่อ กรณีพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกเพียง 2 ปี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีนายกฯ 8 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายทหารเติบโตจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือทหารเสือราชินี 1 ในกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ เข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 กุมกำลังหลักในกองทัพมาตลอด กระทั่งขึ้นเป็นผบ.ทบ.ในปี 53 มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเม.ย.-พ.ค.53
เป็นผู้นำการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ก่อนนิรโทษกรรมตัวเองจากความผิดฐานกบฏ
เข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 62 เป็นผู้นำตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค
ระหว่างการเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ต้องเผชิญการชุมนุมขับไล่ของกลุ่มนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่ก็ใช้แนวทางการปราบปรามอย่างเด็ดขาดรุนแรง
การดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เริ่มต้นนับในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แทนการนับจากการดำรงตำแหน่งจริงตั้งแต่ปี 2557 นั่นทำให้ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังลุ้นเป็นนายกฯ ต่อได้อีก 2 ปี
หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว
พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียว
พล.อ.ประวิตร เป็นพี่ใหญ่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ เคยดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.ยุครัฐบาลทักษิณ เป็นรมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ช่วงการชุมนุมของ นปช.คนเสื้อแดงปี 52 และปี 53
หลังรัฐประหาร 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ และเป็นรองนายกฯ ควบรมว.กลาโหม ในรัฐบาล คสช. ดูแลภารกิจด้านความมั่นคง ตำรวจ-ทหารเป็นหลัก หลังการเลือกตั้ง 2562 ได้เป็นรองนายกฯ ตำแหน่งเดียว
ถูกร้องเรียนตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรู ต่อมาป.ป.ช.ชี้ว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน เพราะเป็นการยืมใช้คงรูป
ปี 2563 เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และเป็นหัวหน้าพรรคต่อจากนายอุตตม สาวนายน จากนั้นก็เริ่มมีกระแสข่าวความขัดแย้งในหมู่พี่น้อง 3 ป. จนในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
จนถึงตอนนี้ ทั้งป.ป้อม และป.ประยุทธ์ ต่างปฏิเสธ โดยยืนยันความสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป. ยังแนบแน่น เพียงแต่ไม่พูดกันถึงเรื่องการเมือง
พล.อ.ประวิตรกล่าวหลายครั้งว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหารปี 57 และไม่เคยมีดีลลับกับพรรคเพื่อไทยเพื่อตั้งรัฐบาล โดยใช้เสียงส.ว.ช่วยสนับสนุน แลกกับตำแหน่งนายกฯ
ด้านพรรคเต็ง 1 อย่างเพื่อไทย ส่งแคนดิเดต 3 รายชื่อ ประกอบด้วย อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ลูกสาวนายทักษิณ ชินวัตร ที่วางมือจากการบริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม เข้าสู่แวดวงการเมือง แม้ถูกมองว่าเป็นหน้าใหม่ แต่ที่จริงแล้ว อุ๊งอิ๊งได้เรียนรู้การเมืองมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากใกล้ชิดกับพ่อมาก
เคยถูกกล่าวหากรณีข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่วเมื่อปี 2547 ซึ่งอุ๊งอิ๊งตอบโต้ในไอจี ถามกลับว่า “จุฬาฯ เส้นเข้าได้ด้วยเหรอคะ???” ยืนยันสอบเข้าไปเอง เรียนพิเศษเป็นบ้าเป็นหลัง เหมือนเด็กเตรียมเอ็นท์สมัยนั้นทุกคน
อุ๊งอิ๊ง ยังได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 49 และ 57 เนื่องจาก 2 นายกฯ ที่ถูกยึดอำนาจ เป็นทั้งพ่อและอา
ยืนยันอยากเห็นพ่อกลับบ้าน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน พร้อมปฏิเสธดีลลับตั้งรัฐบาลร่วมกับพลังประชารัฐเช่นกัน
ลำดับถัดมา เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจชื่อดัง ที่ลาออกจากทุกตำแหน่งในเครือแสนสิริ มารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ
หน้าใหม่ในสนามการเมือง
แต่มีจุดขายจากการประสบความสำเร็จทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนหน้านี้ยังได้แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองต่อเนื่องมาตลอด
เคยถูกเรียกไปรายงานตัวหลังการรัฐประหารของ คสช. แสดงความเห็นต่อเรื่องการชุมนุมของกลุ่มราษฎร และการควบคุมสถานการณ์โควิดอย่างเผ็ดร้อน
ล่าสุดเป็นที่โจษขาน จากการนำเสนอนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เป็นยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำเอาพรรคคู่แข่งในสนามเลือกตั้งสั่นสะเทือนไปทุกพรรค
ลำดับสุดท้าย ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด และรมว.ยุติธรรมยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นตัวแทนรัฐบาลเข้าเจรจาหาทางออกร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่ม กปปส. ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2557 ยืนยันในที่ประชุมว่านายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกฯ ขณะนั้น จะไม่ลาออก จะเดินหน้าทำตามที่กฎหมายกำหนด จนเป็นเหตุให้พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยึดอำนาจ
นายชัยเกษมเคยมีชื่อในบัญชี 3 แคนดิเดตนายกฯ พรรค เพื่อไทยมาแล้วในการเลือกตั้งปี 62 ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 2
พรรคก้าวไกล เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว พร้อมกับยืนในหลักการนายกฯ ต้องมาจากส.ส. ด้วยการเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์
‘ทิม พิธา’ ออกจากแวดวงนักธุรกิจ เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งปี 2562
ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จึงได้รับการผลักดันขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในชื่อพรรคก้าวไกล เสมือนสืบทอดอุดมการณ์ ฝากฝีมือไว้ในการอภิปรายที่พุ่งเป้าตรงประเด็น ทั้งเรื่องการบริหารจัดการโควิด การรับมือกับม็อบราษฎร
เคยมีปัญหาตอบโต้ผ่านออนไลน์กับนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาฯ พรรคอนาคตใหม่ แต่ก็จับเข่าเคลียร์ใจกันได้ คณะก้าวหน้าของธนาธร-ปิยบุตรเข้ามาเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคก้าวไกล ยืนยันสนับสนุนพิธา เป็นนายกฯ คนที่ 30
พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวเช่นกัน
ประวัติความเป็นมาของพรรคภูมิใจไทย ตั้งขึ้นเพื่อรองรับส.ส.พรรคพลังประชาชน และกลุ่มเพื่อนเนวินที่แตกออกมาหลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก่อนจะมารวมตัวโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2551
จากนั้นจึงตั้งพรรคภูมิใจไทยขึ้นมา เติบโตเป็นลำดับได้เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ มาโดยตลอด หลังการเลือกตั้งปี 62 ได้ยกมือสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ได้ชื่อเป็นพรรคศูนย์กลางของส.ส.งูเห่า
เลือกตั้งปี 66 นายอนุทินประกาศเสียงดังฟังชัดหากได้รับเลือกตั้งเสียงมาเป็นอันดับ 1 ก็พร้อมจะเป็นนายกฯ เอง ไม่ยกตำแหน่งให้ใครอีกแล้ว
นอกเหนือจาก 5 พรรคหลักข้างต้น ยังมีชื่อบิ๊กเนม ที่ร่วมมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่นๆ ในระดับรองลงไป อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยสร้างไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคชาติพัฒนากล้า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากรวมไทยสร้างชาติ พรรคเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ล้วนมีโอกาสสอดแทรกเข้ามา
อย่างไรก็ตามสังคมคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะสะท้อนฉันทามติที่ประชาชนแสดงออกผ่านการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา
ไม่มีกลไกนอกระบบอื่นมาทำให้บิดเบือน
ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะถูกนำพาเข้าสู่วงจรความขัดแย้งอย่างไม่มีวันจบสิ้น!!