“หมอนิธิพัฒน์” ถามหาเตียงผู้ป่วยโควิดที่ยังขาดอยู่ 100 เตียง จะไปหาที่ไหน หรือต้องไปดึงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด เราจะยอมให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ระบุ ”คณิตคิดสนุก” ระลอกแรก กรุงเทพมีไอซียูโควิดที่ใช้งานจริงได้ 200 เตียง
ระลอกสอง ขยายขึ้นมาได้เป็น 300 เตียง
ระลอกสาม จนถึงขณะนี้แบ่งมาเกือบเต็มที่แล้วเป็น 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 475 จึงเหลือว่าง 25 เตียง ใน 475 เตียงนี้ เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 300 เตียง ใช้ไฮโฟลว์ หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น 175 เตียง
ในอีก 10 วันข้างหน้า อัตราเสียชีวิตผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 50% จะมีผู้เสียชีวิต 150 คน
ส่วนอีก 150 คน ที่เหลือจะย้ายออกจากไอซียูได้หนึ่งในสาม คือ 50 คน จะมีผู้ป่วยใช้ไฮโฟลว์ หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่นอาการทุเลาออกจากไอซียูโควิดได้ร้อยละ 80 คือ 140 คน จึงเหลือเตียงว่างเป็น 25+150+50+140 = 365 เตียง
หากมีผู้ป่วยใหม่วันละ 1,000 คน รวม 10 วัน คิดเป็น 10,000 คน ผู้ป่วยโควิดใหม่ทุกๆ 100 คน โรคจะลุกลามจนต้องใช้ไอซียูโควิด 5 คน ดังนั้นจะต้องเตรียม 500 เตียง
ดังนั้นเตียงที่ยังขาดอยู่คือ 500-365 = 135 เตียง จะได้จากไหน
เราคงเพิ่มได้อีกเพียง 35 เตียง ที่เหลือ 100 เตียง จะต้องไปดึงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด
ถามว่าเราจะยอมให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร หรือต้องรออิตาลีเป็นแชมป์ยูโร 2020 ในอีกกว่าสองสัปดาห์ข้างหน้าจึงเริ่มคิดเรื่องนี้