ในสภาพบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเศร้าหมองในช่วงนี้ Sanook Health ขออนุญาตรวบรวมข้อมูลการดูแลสุขภาพจิต หลังเหตุการณ์สะเทือนใจ จาก เฟซบุ๊คเพจ ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว และ จิตวิทยาคลินิกศิริราช ที่นำข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต มาแบ่งปันให้ประชาชนได้ช่วยกันดูแลสภาพจิตใจของตนเอง และคนรอบข้าง เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกันค่ะ
- ควรส่งเสริมให้แสดงออกอารมณ์เศร้าให้เหมาะสม ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่ควรปิดกั้นการแสดงออก อยากร้องไห้ให้ร้อง และพยายามพูดคุยทางด้านบวก สร้างแรงจูงใจ
- มีสติ และ สังเกตอาการเสี่ยง ของตนเอง และ คนรอบข้าง เช่น หูแว่ว ความคิดอยากฆ่าตัวตาย ต้องรีบมาพบจิตแพทย์
- คัดกรองดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจิตเวช เน้นว่า “ต้องถามว่า ช่วงนี้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายไหม” เพราะมีงานวิจัยแล้วว่า การถามช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่าการไม่ถาม
- พยายามลดบทบาทของ “ตัวชี้นำทางลบ” (inducer) หรือตัวกระตุ้น เช่น พวกที่กรีดร้องโวยวายเสียงดังเกิน ให้จับแยกไปร้องในที่ ๆ เหมาะสม พวกที่เกิดอาการผีเข้า หรือ อาการชักเกร็งอื่นๆ ให้รีบพาแยกออกไปจากกลุ่มชนแล้วพามาพบจิตแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดอุปทานหมู่
- อาจจะต้องลดการรับฟังข่าวสารแบบต่อเนื่อง เพื่อลดความเครียดที่จะสะสมเพิ่มขึ้น โดยเลือกรับฟังข่าวสารเฉพาะที่สำคัญ กำหนดเวลารับข่าวที่แน่ชัด
- ในกรณีที่เครียดมาก อาจใช้วิถีทางตามความเชื่อทางศาสนา เช่น ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นต้น
- ใครที่มีโรคประจำตัว ต้องดูแลตัวเองตามเดิม อย่าลืมรับประทานยาประจำ กินอาหารตามเวลา และพักผ่อน
หากมีอาการเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต 1323