ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ศาลอาญา ประทับฟ้องรับคดี 'เสรีพิศุทธ์' หมิ่น 'สิระ'

Home » ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ศาลอาญา ประทับฟ้องรับคดี 'เสรีพิศุทธ์' หมิ่น 'สิระ'



ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ให้ศาลอาญาประทับฟ้องรับคดี “เสรีพิศุทธ์” หมิ่น “สิระ เจนจาคะ” ไว้พิจารณา นัดสอบคำให้การจำเลย ตรวจหลักฐาน 20 มี.ค. 66

1 ธ.ค. 65 – ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีหมายเลขดำที่​ ​อ.​2867/2563 ที่ นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผบ.ตร. และประธานกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ​ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา

กรณีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2563 นายสิระ โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จำเลยจึงทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 ก.ย. 2563 และยื่นหนังสือดังกล่าวผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร์​ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร์​ว่า​

โจทก์มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ​ จำเลยในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ​ จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งกรรมาธิการแทนที่ว่างและมีข้อความในย่อหน้าสุดท้ายว่า

เนื่องจาก นายสิระ​ เจนจาคะ​ เป็นกรรมาธิการที่ไม่มีความรู้ และไม่สนใจปฏิบัติหน้าที่ขาดการประชุมบ่อยครั้ง เข้าประชุมแต่ละครั้งเพียง 1 นาที หรือไม่เกินครึ่งชั่วโมง เพียงหวังรับเบี้ยประชุมเท่านั้น จึงขอให้แจ้งทางพรรคได้พิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความเหมาะสมกับตำแหน่งมาปฏิบัติหน้าที่ ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่หนังสือดังกล่าวในเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฎร

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง ตั้งแต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

โดยวันนี้ นายสิระ โจทก์ และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยมาศาล​เพื่อฟังคำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วตามทางไต่สวนมูลฟ้องได้ความว่า​

โจทก์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ และเป็นประธานคณะกรรมการที่การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน​ จำเลย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และเป็นประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จำเลย เป็นประธานกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ​

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์มีมูลหรือไม่ เห็นว่าการหมิ่นประมาทนั้นเป็นการกระทำโดยใส่ความ คือบอกกล่าวข้อความอันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังเกิดขึ้นอยู่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง เป็นการกล่าวหาผู้อื่นต่อบุคคลที่สามให้ได้รับความเสียหาย และข้อความดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่

จากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวในหนังสือประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ว่าโจทก์เป็นกรรมาธิการไม่มีความรู้และไม่สนใจปฏิบัติหน้าที่ขาดการประชุมอยู่บ่อยครั้ง เข้าประชุมแต่ละครั้งไม่เกินครึ่งชั่วโมง เพื่อหวังเบี้ยประชุมเท่านั้น​ มีลักษณะเป็นการยืนยันว่า โจทก์ขาดคุณสมบัติในการทำหน้าที่กรรมาธิการในคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการ​ทุจริต​และประพฤติมิชอบ​มิชอบสภาผู้แทนราษฎร

ทำให้โจทก์ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทั่วไป ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามว่า โจทก์​ไม่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เป็นคนไม่ดี ไม่ซื่อตรงหรือทุจริตประพฤติมิชอบเสียเอง ถ้อยคำดังกล่าวจึงอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง​อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้​ ประกอบกับ ได้ความตามที่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อพิพาทกันมาก่อน​

จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวในหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่สุจริตมุ่งจะทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง​ ได้รับความเสียหาย

คดีโจทก์ จึงมีมูลให้ประทับรับฟ้องและพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น​ พิพากษากลับให้ประทับรับฟ้อง​ และนัดจำเลยมาสอบคำให้การ​ ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 20 มี.ค. 2566 เวลา 13.30 น.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ