ศาลอังกฤษสั่ง – วันที่ 21 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ศาลสหราชอาณาจักรมีคำสั่งให้ เชค มูฮัมมัด บิน รอชิด อัลมักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ทรงจ่ายเงินแก่ เจ้าหญิงฮายา บิน อัล-ฮุสเซน อดีตพระชายา เป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (ราว 22,303 ล้านบาท) นับเป็นการยุติคดีหย่าร้างครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยพิพากษาโดยศาลสหราชอาณาจักร
ตัวเลขเงินดังกล่าวจะครอบคลุมค่าถวายความปลอดภัยแด่เจ้าหญิงฮายาตลอดพระชนม์ชีพ ตลอดจนค่าใช้จ่ายแด่พระธิดา และพระโอรส อย่างละ 1 องค์ ได้แก่ เจ้าหญิงอัล จาลีลา บิน โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตูม พระชันษา 14 ปี และ เจ้าชายซาเยด บิน โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตูม พระชันษา 9 ปี ด้วยการชำระเงินล่วงหน้า 251.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (ราว 11,215 ล้านบาท) ที่ครบกำหนดชำระในอีกสามเดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการหย่าร้างดังกล่าวไม่มีตัวเลขตายตัว เนื่องจากศาลตัดสินว่า เชค โมฮัมเหม็ด ควรทรงจ่ายค่าถวายความปลอดภัยรายปีแก่พระธิดาและพระโอรสตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือเช่นกัน หรือจนกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติม
นายจัสติซ มัวร์ ผู้พิพากษา ระบุในคำพิพกษาที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าภัยคุกคามใหญ่ที่กำลังเผชิญกับเจ้าหญิงฮายา พระธิดาและพระโอรส มาจากพระองค์เชคเอง ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก
คำพิพากษาดังกล่าวอ้างถึง เชค โมฮัมเหม็ด ข่มขู่เจ้าหญิงฮายา รวมถึงสามารถสอดแนมเจ้าหญิงและผู้ติดตาม โดยใช้ซอฟต์แวร์ “เพกาซัส” ซึ่งให้รัฐบาลต่างๆ ใช้งานเท่านั้น และข้อมูลข้างต้นปรากฏในเอกสารของศาลในเดือนตุลาคม
ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับชีวิตสมรสมีการเปิดเผยในคำพิพากษา รวมถึงหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าหญิงฮายาจ่ายเงินแก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 4 คน เป็นเงิน 6.7 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง (ราว 298 ล้านบาท) แลกกับการไม่ต้องถูกแฉว่าเจ้าหญิงฮายาทรงมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเจ้าหน้าที่หนึ่งใน 4 คนนั้น
รายละเอียดกรณีชู้สาวได้รับการพิจารณาศาลก่อนในคดีเดียวกันนี้ รวมถึงข้อกล่าวหาจากเจ้าหญิงฮายาว่า ทรงได้รับโทรศัพท์ขู่เข็ญจากเชค โมฮัมเหม็ด ถึงคดีชู้สาวในเวลานั้น ซึ่งทำให้เจ้าหญิงฮายาทรงรู้สึก “หวาดกลัว”
ทั้งนี้ ข้อตกลงการหย่าร้างดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการต่อสู้ยาวนานหลายปีระหว่างสองพระองค์ที่ทรงเหินห่าง โดยศาลสูงสหราชอาณาจักรพิพากษาว่า เชค โมฮัมเหม็ด ทรงอาศัย “ความมั่งคั่งมหาศาล อำนาจทางการเมือง และอิทธิพลระหว่างประเทศ” ในพระองค์เพื่อพยายามกลั่นแกล้งและปิดปากเจ้าหญิงฮายา พระชันษา 47 ปี พระองค์นี้
นอกจากนี้ มีอีกคำพิพากาษาในเดือนมี.ค. 2563 สรุปว่า เชค โมฮัมเหม็ด ก่อนหน้านี้ ทรงจัดการลักพาพระธิดา 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงแชมซา และเจ้าหญิงลาติฟา ที่เมืองเคมบริดจ์ของอังกฤษ กลับไปนครดูไบ เมื่อปี 2543 แต่เชค โมฮัมเหม็ด ทรงปฏิเสธข้อครหาดังกล่าวมาตลอด