ศาลสูงสุดอินเดีย พิพากษายืนกฎหมายจัดสรรโควตา สำหรับคนยากจน

Home » ศาลสูงสุดอินเดีย พิพากษายืนกฎหมายจัดสรรโควตา สำหรับคนยากจน


ศาลสูงสุดอินเดีย พิพากษายืนกฎหมายจัดสรรโควตา สำหรับคนยากจน

ศาลสูงสุดอินเดีย พิพากษายืนกฎหมายโควตาสำหรับคนยากจน

วันที่ 7 พ.ย. บีบีซี รายงานว่า ศาลสูงสุดอินเดีย พิพากษายืนกฎหมายจัดสรรโควตาในการเรียนมหาวิทยาลัยและการทำงานหน่วยงานรัฐบาลสำหรับคนยากจนเป็นจำนวนร้อยละ 10 นอกเหนือจากโควตาร้อยละ 49.5 สำหรับกลุ่มที่มีความเสียเปรียบทางสังคม กลุ่มตามวรรณะ กลุ่มชนเผ่า ที่จะทำให้คนยากจนและคนวรรณะสูงพึงพอใจ

 

ตุลาการ 3 คนที่เห็นชอบ (จากทั้งหมด 5 คน) ระบุว่า โควตาสำหรับคนยากจนเนื่องด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ละเมิดโครงสร้างพื้นฐานและรัฐธรรมนูญของอินเดีย และว่าเป็นการยืนยันการดำเนินการของรัฐบาล ส่วน เอส. ราวินทรา บัต 1 ใน 2 ผู้พิพากษาที่คัดค้าน ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวบ่อนทำลายโครงสร้างของความยุติธรรมทางสังคม เนื่องจากไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มที่เคยถูกสังคมชายขอบในอดีตกีดกัน

ทั้งนี้ อินเดียบังคับใช้กฎหมายจัดสรรโควตาเมื่อปี 2493 สำหรับผู้อยู่ต่ำสุดของลำดับวรรณะที่มีการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึกเพื่อพยายามแก้ไขความอยุติธรรมและให้พื้นที่การแข่งขันแก่ผู้ด้อยโอกาสอันเนื่องมาจากประเพณี

เดิมรัฐบาลคิดที่จะให้กฎหมายจะมีอายุ 10 ปี แต่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายเวลาออกไป และในปี 2531 มีการขยายโควตาครอบคลุมกลุ่มคนจนในวรรณะสูง (Other Backward Classes – OBCs)

 

ต่อมา เมื่อเดือนม.ค. 2562 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที แก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อจัดสรรโควตาแก่คนยากจนหรือภาคส่วนที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ (Economically Weaker Sections – EWS) ซึ่งรายได้ต่อปีของครอบครัวลดลงต่ำกว่าขีดจำกัดที่ต้องเสียภาษี

การวินิจฉัยกฎหมายโควตาในศาลสูงสุดของอินเดียทำให้ฝ่ายวิจารณ์โต้แย้งว่า นี่เป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากไม่เปิดทางให้กลุ่มวรรณะที่มีระบบโควตาอยู่แล้วเข้าถึงได้ และขัดต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2534 ที่จำกัดเพดานโควต้าที่ร้อยละ 50 ส่วนกฎหมายฉบับใหม่เพิ่มเพดานเป็นร้อยละ 59.5

รัฐบาลอินเดียแย้งว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของภาคส่วนสังคมที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากกว่าและช่วยประชาชนให้พ้นจากความยากจน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ