ศาลสูงสุดสิงคโปร์ ปฏิเสธคำขอเว้นโทษตาย ชายมาเลย์ป่วยจิต ลักลอบขนเฮโรอีน
วันที่ 29 มี.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ของสิงคโปร์ (ศาลยุติธรรมขั้นสูงสุดของสิงคโปร์) ปฏิเสธอุทธรณ์ขั้นสุดท้ายของชายผู้พิการทางสติปัญญา ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาลักลอบขนยาเสพติด หลังทนายความของจำเลยโต้แย้งว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเนื่องจากจำเลยเป็นผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา
การพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นทางยุติทุกวิถีทางทางกฎหมายเพื่อยับยั้งการประหารชีวิต และกลุ่มผู้สนับสนุนกล่าวว่า นายธรรมลิงกัมอาจถูกแขวนคอภายในไม่กี่วัน
คดีดังกล่าวได้รับความสนใจจากนานาประเทศ รวมถึงจากสหประชาชาติ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และเป็นการนำกฎหมายปลอดยาเสพติดของสิงคโปร์กลับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
นากาเอนธรัน ธรรมลิงกัม พลเมืองมาเลเซีย อายุ 34 ปี ถูกจับกุมในปี 2552 หลังนำเฮโรอีน 42.7 เข้ามาในสิงคโปร์ นายธรรมลิงกัมถูกตัดสินมีความผิดและถูกพิพากษาประหารชีวิตในปี 2553 ต่อมา ยื่นอุทธรณ์ด้วยเหตุผลความพิการทางจิต และขอให้ทนายความเริ่มการพิจารณาคดีเพื่อยุติโทษประหารชีวิต
“ศาลอุทธรณ์ของสิงคโปร์เพิ่งยกคำร้องและถือว่า การยื่นอุทธรณ์เป็นการละเมิดกระบวนการและว่า กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีผลบังคับใช้ นากาเอนธรัน ซึ่งมีความพิการทางสมอง มีกำหนดจะถูกแขวนคอในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” เอ็ม. ราวี หนึ่งในทีมทนายความของนายธรรมลิงกัม ระบุในข้อความโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันอังคารที่ 29 มี.ค.
ด้านผู้พิพากษาสูงสุด สุนทเรศ เมนอน กล่าวในการพิจารณาคดี “ไม่มีหลักฐานที่ยอมรับได้ว่า สภาพจิตใจของผู้อุทธรณ์ลดลงหลังการกระทำความผิด คดีที่ทนายผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นคดีที่ไม่มีมูลและไม่เป็นคุณทั้งตามข้อเท็จจริงและตามกฎหมาย” เมนอนระบุในเอกสารศาล
ศาลยังยกคำร้องขอให้นายธรรมลิงกัมได้รับการประเมินโดยคณะจิตแพทย์อิสระ
เมื่อเดือนต.ค.64 ครอบครัวนายธรรมลิงกัมได้รับแจ้งการประหารชีวิตนายธรรมลิงกัมที่จะใกล้เข้ามา ทีมทนายความของนายธรรมลิงกัมจึงเริ่มสู้คดีในนาทีสุดท้าย แต่ศาลสูงสิงคโปร์ยกคำร้องในเดือนพ.ย.64 แต่อนุญาตพักการประหารชีวิตเพื่อสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลสูงได้
ต่อมา การพิจารณาอุทธรณ์ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากนายธรรมลิงกัมติดโควิด-19 กระทั่งวันอังคารที่ 29 มี.ค. คำพิพากษาในการยื่นอุทธรณ์ทำให้นายธรรมลิงกัมหมดตัวเลือกทางกฎหมายอีกต่อไป
รีพรีฟ กลุ่มต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวว่า นายธรรมลิงกัมกำลังเผชิญการประหารชีวิตที่ใกล้เข้ามา เว้นแต่จะได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีของสิงคโปร์ นางฮาลีมาห์ ยาคอบ
มายา โฟอา ผู้อำนวยการรีพรีฟ ระบุในแถลงการณ์ว่า “เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีและการตัดสินใจที่รวบรัวในคดีนี้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมของนากาเอนธรัน ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองจากโทษประหารชีวิตเนื่องจากความพิการทางสติปัญญา
“ข้อเท็จจริงที่น่าสะเทือนใจที่นากาเอนธรันเชื่อว่า เขากำลังจะกลับบ้านไปหาครอบครัวและพูดคุยเกี่ยวกับการแบ่งปันอาหารทำเองที่บ้านกับพวกเขา แสดงว่าเขาไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เขากำลังเผชิญกับการประหารชีวิต และขาดความสามารถทางจิตที่จะได้รับโทษประหารชีวิต”
โทษประหารชีวิต
สิงคโปร์มีกฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดที่สุดในโลก การค้ายาเสพติดจำนวนหนึ่ง เช่น เฮโรอีน 15 กรัม จะมีโทษประหารชีวิตภายใต้กฎหมายการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด แต่เมื่อไม่นานมานี้ และหลังคดีขอนายงธรรมลิงกัมเริ่มต้น กฎหมายดังกล่าวได้รับการแก้ไขเพื่อให้ผู้ต้องหาไม่ต้องถูกประหารชีวิตในบางสถานการณ์
ทนายความของนายธรรมลิงกัมโต้แย้งว่า นายธรรมลิงกัมไม่ควรถูกตัดสินประหารชีวิตภายใต้กฎหมายของสิงคโปร์ เพราะนายธรรมลิงกัมไม่เข้าใจการกระทำของตัวเอง และว่านักจิตวิทยาประเมินไอคิวของนายธรรมลิงกัมได้คะแนนที่ 69 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นความบกพร่องทางสติปัญญา
ทนายความยังโต้แย้งในการพิจารณาคดีว่า นายธรรมลิงกัมเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) อย่างร้ายแรง มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับคาบเส้น และความผิดในการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างรุนแรง
ทนายความกล่าวด้วยว่า นายธรรมลิงกัมต้องโทษประหารชีวิตมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว และในช่วงเวลานั้น อาการของนายธรรมลิงกัมแย่ลงไปอีก
เอ็น. สุเรนธรัน ทนายความชาวมาเลเซีย ตัวแทนครอบครัวนายธรรมลิงกัม ที่ปรึกษาของ NGO Lawyers for Liberty ของมาเลเซีย กล่าวในเดือนพ.ย. 64 ว่า “เขาไม่มีความรู้สึกที่ดีนักเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา เขาสับสน เขาไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา” และว่า การประหารชีวิตนายธรรมลิงกัมจะเท่ากับ “การประหารชีวิตเด็ก”
อย่างไรก็ตาม ศาลสิงคโปร์กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 29 มี.ค. กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่ยอมรับได้ว่าสภาพจิตใจของธรรมะลิงกัมตกต่ำลง ผู้พิพากษาตัดสินว่า คำกล่าวอ้างของทนายความเกี่ยวกับความเสื่อมถอยทางจิตใจของนายธรรมะลิงกัมคือ “การกระทำด้วยตนเอง และ “ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสิ่งใดเลย”
ตามเอกสารของศาล เมนอน ผู้พิพากษาสูงสุด กล่าวว่า กระบวนการโต้แย้งดังกล่าวถูกดำเนินการในลักษณะที่ตั้งใจจะชะลอการประหารชีวิต