ศาลสงขลาชี้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตหรือไม่
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF) เผยแพร่ข้อมูลว่าศาลจังหวัดสงขลา นัดฟังคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2563 หรือคดีไต่สวนการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งสมองบวมและเสียชีวิตจากเหตุถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร
คดีนี้สืบเนื่องจาก นายอับดุลเลาะ ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 ควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันที่ 20 ก.ค. 2562 ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 2562 พบว่านายอับดุลเลาะ หมดสติอยู่ในห้องควบคุมศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร
นายอับดุลเลาะได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นถูกส่งไปรักษาตัวต่อ ณ อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี และถูกส่งตัวไปรักษาต่ออีกครั้งที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 22 ก.ค. 2562 และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ก่อนที่นายอับดุลเลาะจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562
นางสาวซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของนายอับดุลเลาะห์ ร่วมกับทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด 2 ปี และมีการสืบพยานมากกว่า 21 ปาก ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารในค่ายอิงคยุทธบริหาร แพทย์ พยานที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่จากภาคประชาสังคม
วันนี้ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ทนายฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิต เสนอต่อศาลนั้นไม่เพียงพอต่อการบ่งชี้ได้ว่านายอับดุลเลาะเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายได้ จึงมีคำสั่งว่า นายอับดุลเลาะ เสียชีวิตเมื่องวันที่ 25 สิงหาคม 2562 เวลา 04.03 น. เสียชีวิตจากการที่สมองขาดออกซิเจนและหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหารจริง
ด้าน พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แสดงความคิดเห็นว่า เหมือนกลไกตุลาการยังไม่ช่วยชาวบ้านค้นหาความจริงเท่าที่ควร คำสั่งคดีไต่สวนการตายวันนี้ได้ความจริงเท่ากับที่เคยได้จากแพทย์มาตั้งแต่วันเกิดเหตุที่ค่ายอิงคยุทธบริหารว่า นายอับดุลเลาะสมองบวมจากการขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่สงขลาในเวลาต่อมา
แต่สิ่งที่ญาติและสาธารณชนต้องการคำตอบคือ มีใครทำให้นายอับดุลเลาะขาดอากาศหายใจจนสมองบวมหรือไม่ แล้วญาติต้องไปร้องเรียนที่ไหนอีก และใครต้องรับผิดชอบต่อการควบคุมตัวของรัฐจนทำให้นายอับดุลเลาะเสียชีวิตในค่ายทหาร
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ติดตามกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะต่อไป ในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้กองทัพรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตของประชาชนที่เกิดขึ้นภายในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ และชดเชยเยียวยาครอบครัวของนายอับดุลเลาะ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป