ศาลรธน. มติเสียงข้างมาก ชี้แผนลดการผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่าร้อยละ 51 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีข้อแนะนำให้กำหนดกรอบ เพดานสัดส่วนการผลิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงาน กำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน(พ.ศ. 2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
และศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสาม และวรรคสี่
ประกอบ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องดำเนินการกำหนดกรอบ หรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน อันส่งผลต่ออัตราค่ไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริง ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา
หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้ ดังนั้น อาศัยเหตุผลข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง