ศอ.บต.แจงแล้ว หลังผู้ประสบภัยน้ำท่วมโวย แจกอาหารบูด-ข้าวแข็ง กินไม่ได้

Home » ศอ.บต.แจงแล้ว หลังผู้ประสบภัยน้ำท่วมโวย แจกอาหารบูด-ข้าวแข็ง กินไม่ได้


ศอ.บต.แจงแล้ว หลังผู้ประสบภัยน้ำท่วมโวย แจกอาหารบูด-ข้าวแข็ง กินไม่ได้

ศอ.บต.แจงแล้ว หลังผู้ประสบภัยน้ำท่วมโวย แจกอาหารบูด-ข้าวแข็ง กินไม่ได้ เผยสาเหตุอ้างทางไกล-อากาศร้อน

วันที่ 5 มี.ค. 65 กลายเป็นประเด็นจากชายแดนใต้ เมื่อมีชาวบ้านออกมาร้องเรียนว่า ข้าวกล่องที่ทางราชการแจกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในอำเภอรามัน จังหวัดยะลา กลายเป็นข้าวบูด โดยชาวบ้านใน อ.รามัน ได้ร้องเรียนไปยังนายอำเภอรามัน ว่าเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 65 เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มอบข้าวกล่องให้อำเภอรามันเพื่อช่วยผู้ประสบภัย จำนวน 500 กล่อง และได้นำแจกจ่ายชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม

ต่อมาทราบข่าวจากชาวบ้านว่า ข้าวที่รับแจกมาเกือบทุกกล่องบูด เสีย รับประทานไม่ได้ และข้าวยังแข็งเหมือนข้าวดิบ หรือหุงไม่สุก โดยข้าวกล่องลอตนี้ กระจายไปให้ประชาชนในพื้นที่ หมู่1 ต.อาซ่อง อ.รามัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านนำข้าวที่บูดและเสียนั้น ไปทิ้งและเทให้แพะกิน แล้วถ่ายคลิปแชร์ไปทั่ว ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ข้าวลอตนี้ที่ปรุงพร้อมกัน ได้ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาสด้วย และมีชาวบ้านยืนยันว่า ข้าวกล่องบางส่วนบูด และมีกลิ่นเหม็น

ด้าน เจ้าหน้าที่ใน ศอ.บต. ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า อาหารมื้อกลางวัน วันพฤหัสบดีที่ 3 มี.ค. บูดเพียงมื้อเดียว และเมื่อได้รับการร้องเรียน ทางเลขาธิการ ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร ได้สั่งให้แก้ไขปัญหาทันที พร้อมค้นหาสาเหตุของปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำอีก

จากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ปัญหาการบูดเสียของอาหาร เกิดจากสถานที่ตั้งโรงครัวประกอบอาหาร ห่างจากจุดเกิดอุทกภัย การลำเลียงอาหารไปยังพื้นที่เป้าหมาย ไม่สามารถใช้เส้นทางหลักที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมขังได้ ต้องใช้เส้นทางเลี่ยง ทำให้เป็นการเพิ่มเวลาการเดินทาง ข้าวอบอยู่ในรถขนส่งเป็นเวลานาน โดยรถที่ใช้เป็นรถตู้ ป้องกันฝนตก แต่วันที่ 3 มี.ค. ฝนไม่ตก ซ้ำแดดแรง ทำให้อากาศร้อน อาหารในรถตู้จึงบูด และส่งกลิ่น โดยจำนวนข้าวกล่องที่บูด มีราว ๆ 20% ไม่ใช่ทั้งหมด

ส่วนที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า ข้าวในกล่องมีสภาพเป็นข้าวแข็ง คาดว่าเป็นข้าวดิบนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศอ.บต. บอกว่า ข้าวสารที่นำมาหุงเป็นข้าวเสาไห้ เม็ดข้าวมีลักษณะแข็งกว่าชนิดอื่น โดยเมื่อหุงสุกแล้ว เม็ดข้าวเย็นลงจะแข็งทันที ทำให้เกิดความเข้าใจว่าข้าวดิบ

ประกอบกับวัตถุดิบประกอบอาหารในวันที่เกิดปัญหา คือ แกงส้มไก่ฟักเขียว และไข่เจียว ซึ่งเมื่อโดนความร้อนจากการขนส่งทำให้บูดเสียเร็วกว่าปกติ ทั้งๆ ที่เมนูนี้เคยทำมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยบูดหรือส่งกลิ่น เนื่องจากอากาศไม่ร้อนเหมือนวันที่ 3 มี.ค.

สำหรับการแก้ไข จุดที่ 1 ในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก ผู้ปรุงอาหารได้เร่งโอนเงินให้ผู้นำท้องถิ่น ดำเนินการปรุงอาหารสำเร็จทดแทนในทันที โดยไม่ได้ติดใจจำนวนข้าวกล่องที่แจกจ่ายไปแล้ว จำนวน 1,500 กล่อง เป็นเงิน 45,000 บาท เพื่อให้ประชาชนได้รับอาหารที่ดีและทันท่วงที

จุดที่ 2 พื้นที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้นำท้องที่และผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นเหตุสุดวิสัย โดยได้ชดเชยข้าวกล่องที่บูดเสียให้พื้นที่ดังกล่าว ในมื้อเที่ยงของวันศุกร์ที่ 4 มี.ค. จำนวน 250 กล่อง

สำหรับโครงการอาหารปรุงสุก แจกจ่ายผู้ประสบภัยนั้น ศอ.บต.จัดตั้งโรงครัว โดยดำเนินการผ่านองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดยะลา หรือ “กลุ่มเสื้อเขียว” ปรุงอาหารวันละ 5,000 กล่อง รวม 5 วัน รวมทั้งสิ้น 25,000 กล่อง ในราคากล่องละ 30 บาท งบประมาณทั้งสิ้น 750,000 บาท ส่งไปยังพื้นที่ประสบอุทกภัยหลายพื้นที่

โรงครัวตั้งขึ้น 3 จุด จุดแรกที่ ศอ.บต. จุดที่ 2 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา และจุดที่ 3 สำนักงานองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง จ.นราธิวาส ได้มอบข้าวกล่องแจกจ่ายไปในพื้นที่ประสบภัยตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 4 มี.ค.65 แยกเป็น จ.นราธิวาส รวม 13,500 กล่อง จ.ยะลา 5,250 กล่อง และ จ.ปัตตานี 6,250 กล่อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ