กำลังเป็นที่นิยม และพูดถึงอยู่ในโลกออนไลน์กันอย่างมาก สำหรับ “ว่านจักจั่น” ที่มีลักษณะเหมือนซากจักจั่นที่ตายแล้ว และมีเหมือนต้นไม้ต้นเล็กๆ งอกออกมาจากตัวของจักจั่น เชื่อกันว่าว่านจักจั่นเป็นพืชมงคล ชาวบ้านมักเก็บไว้บูชาเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน และร่ำรวยมีเงินมีทองใช้ บ้างก็นำว่านจักจั่นไปต้มน้ำดื่มทานกันเป็นกิจวัตร เพราะเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บได้สารพัด
แต่อันที่จริงแล้ว นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เคยได้รับรายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินว่านจักจั่น จำนวน 2 ราย (แม่ลูกกัน) จากจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทั้งสองคนเข้าไปหาเก็บเห็ดป่าแล้วขุดเจอว่านจักจั่น จึงนำมาทอดกินเย็นกันสองคนในช่วงเย็น จากนั้นตอนดึกของวันเดียวกัน ทั้งสองคนเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึม ชัก และเกร็งกระตุก ลูกอาการหนักญาติจึงพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาล ส่วนแม่อาการไม่หนักให้รอที่บ้าน และญาติได้นำตัวอย่างว่านจักจั่นที่ทั้งสองคนกินก่อนมีอาการดังกล่าว มาให้แพทย์วินิจฉัยด้วย แพทย์จึงได้แจ้งทางญาติให้รีบพาผู้เป็นแม่เข้ามารับการรักษาทันที ขณะนี้ทั้งสองคนยังอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ซึ่งเหตุการณ์คล้ายกันแบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อปี 2557 ที่เกิดพร้อมกันถึง 9 ราย จากที่กินทั้งหมด 11 ราย หลังจากนำว่านจักจั่นมาทอดกินแกล้มเหล้า ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก การรู้สึกตัวเปลี่ยน กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก อ่อนแรง ใจสั่น และเวียนศีรษะ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 9 ราย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีผู้อาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 1 ราย ส่วน 2 รายที่ไม่มีอาการ เพราะกินเข้าไปแล้วรู้สึกรสชาติเฝื่อนจึงคายทิ้งก่อน ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยเป็นช่างรับทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร ที่ขุดเจอว่านจักจั่นแล้วนำมาทอดกินเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ในครั้งนี้
สำหรับว่านจักจั่น ที่ชาวบ้านนำมาทอดกิน นั้น เป็นเพียงซากของจักจั่นที่ติดเชื้อราแมลงและมีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่ว่านหรือพืชที่มีต้นคล้ายเห็ดอยู่เหนือดินและหัวใต้ดินอย่างที่เข้าใจ ว่านจักจั่นจะพบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความชื้นสูง เมื่อจักจั่นตัวอ่อนที่กำลังโผล่ขึ้นจากดิน เพื่อลอกคราบ จักจั่นจะอ่อนแอ จึงมีโอกาสติดเชื้อราแมลงได้ง่ายและตายในที่สุด เชื้อราแมลงก็จะเจริญเติบโตในซากจักจั่น และแทงเส้นใยออกมานอกตัวจักจั่นและเจริญโครงสร้างสำหรับสืบพันธุ์ ทำให้ดูเหมือนมีราก หรือเขาออกมาจากตัวจักจั่น ซึ่งราแมลงที่ทำให้เกิดจักจั่นติดเชื้อรานี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับแมลงชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น มด แมงมุม เพลี้ย ด้วง และหนอน เป็นต้น
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า จากที่ชาวบ้านนำว่านจักจั่นมาทอดกินและทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ อาจเกิดจากเชื้อราหรือจากจักจั่นหรือผลร่วมกันของทั้งเชื้อราและจักจั่น ทั้งนี้ เพราะจักจั่นสามารถอยู่ในดินได้ในระยะเวลานาน ทำให้บางคนอาจจะแพ้เชื้อรา แพ้จักจั่น หรือได้รับพิษสารเคมีที่อยู่ในดินที่ซากจักจั่นนั้นอยู่ก็ได้ ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชนไม่ควรนำซากจักจั่นติดเชื้อรา หรือว่านจักจั่นมาบริโภค เพราะอาจเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ หรืออาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ทางด้านของ หมอแล็บแพนด้า นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง กล่าวเอาไว้ในเฟซบุ๊คว่า ว่านจักจั่น นอกจากจะไม่ใช่พืชอย่างที่ทุกคนเข้าใจกันแล้ว ยังไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคอย่างที่เข้าใจกันเลย เพราะเป็นเพียงตัวจักจั่นที่ตายจากเชื้อราเท่านั้น และเชื้อราก็เป็นเชื้อราคนละประเภทกับ “ถังเช่า” ที่เป็นสมุนไพรของจีนอีกด้วย เพราะเชื้อราในว่านจักจั่นเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดพิษในร่างกายได้นั่นเอง
อ่านคำตอบของ หมอแล็บแพนด้าเต็มๆ ได้ด้านล่าง
____________________
“ว่านจั๊กจั่น” ไม่ใช่ว่าน ไม่มีส่วนไหนเกี่ยวกับพืชเลยครับ แต่มันคือ “จั๊กจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา” นึกภาพตามนะครับ
ในขณะที่จั๊กจั่นตัวอ่อนมันขึ้นมาลอกคราบบนดิน มันจะอ่อนแอมาก เชื้อราบริเวณนั้นสามารถแทงเส้นใยเข้าไปเติบโตในตัวจั๊กจั่นได้ โดยดูดสารอาหารในตัวจั๊กจั่นเป็นอาหาร จนจั๊กจั่นตาย มองผิวเผินเหมือนจั๊กจั่นงอกมาจากดิน คล้ายๆว่าน
บางคนก็เอาไปบูชา บางกลุ่มเอาไปต้มน้ำกิน เพราะเชื่อว่าเป็นยา ตายได้นะครับ สารพิษจากราบางชนิด ทนความร้อนได้สูงมากๆ อย่าเอาไปกิน
____________________