วุฒิสภา โหวตคว่ำ ‘สถาพร’ ไม่ได้นั่งกรรมการ ป.ป.ช. ชี้คุณสมบัติไม่ถึงอธิบดี

Home » วุฒิสภา โหวตคว่ำ ‘สถาพร’ ไม่ได้นั่งกรรมการ ป.ป.ช. ชี้คุณสมบัติไม่ถึงอธิบดี


วุฒิสภา โหวตคว่ำ ‘สถาพร’ ไม่ได้นั่งกรรมการ ป.ป.ช. ชี้คุณสมบัติไม่ถึงอธิบดี

ที่ประชุมวุฒิสภา ไม่เห็นชอบ ‘สถาพร วิสาพรหม’ รองประธานศาลอุทธรณ์ เป็น กรรมการ ป.ป.ช. ด้วยคะแนน 138 ต่อ 41 งดออกเสียง27 เหตุคุณสมบัติไม่ถึงอธิบดีผู้พิพากษา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 พ.ค.2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ที่มีนายพรเเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ นายสถาพร วิสาพรหม รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจากคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จ โดยเป็นการพิจารณาและลงมติแบบลับ

หลังการลงคะแนนและนับคะแนนเสร็จสิ้น พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ประกาศผลการลงคะแนน ผลปรากฎว่า ที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ 41 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 138 คะแนน ไม่ออกเสียง 27 คะนน จึงถือว่านายสถาพร ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมลับ นายประพันธ์ คูณมี ส.ว.ในฐานะกมธ.ตรวจสอบประวัติ ได้เสนอรายงานว่า การตรวจสอบประวัติ ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของ นายสถาพร ที่ไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 9(1) ที่กำหนดให้ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ปัจจุบัน นายสถาพร เป็นรองประธานศาลอุทธณ์คดีชำนัญพิเศษ และก่อนหน้านั้นเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอุทธรณ์ในคดีชำนัญพิเศษ ไม่เคยดำรงตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลใดมาก่อน

ดังนั้น นายสถาพร ไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ข้อร้องเรียนดังกล่าวเป็นจดหมายสนเท่ห์ ลงชื่อ ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 รุ่นเดียวกับนายสถาพร

นายประพันธ์ กล่าวด้วยว่า หนังสือร้องเรียนระบุด้วยว่า การถืออัตราเงินเดือนเท่ากันเป็นเกณฑ์เทียบไม่มีกฎหมายใดให้ทำได้ จะทำให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และมีคำกล่าวอ้างเป็นหนังสือของศาลยุติธรรม ศย.003/113 เมื่อ 23 พ.ย. 2565 กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแต่งตั้งโยกย้ายและลงโทษทางวินัย มีมติยืนยัน เมื่อ 21 มี.ค.2565 ตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ไม่ใช่ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป ตามประกาศของ ก.ต. ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

หากตีความว่า 2 ตำแหน่งเทียบเท่ากับอธิบดีผู้พิพากษาแล้ว สิทธิสมัครตามรัฐธรรมนูญ จะเข้าตามมาตรา 9(1) แต่จะมีประเด็นที่ไม่มีมาตรฐานต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งกมธ.ส่วนใหญ่มีมติว่าการวินิจฉัยของกรรมการสรรหา ผูกพันเฉพาะผู้สมัครและกรรมการ ไม่มีผลผูกพันต่อส.ว.ที่จะให้ความเห็นชอบ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ