นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยภายหลังนำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับส่วยรถบรรทุกมอบให้ พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบกรณีส่วยทางหลวง เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ว่า เรื่องส่วยสติกเกอร์นี้มีความเป็นไปได้ว่ามีอัยการเข้ามาพัวพันด้วย
ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลรายนี้ เผยอีกว่า เอกสารที่รวบรวมมาให้จเรตำรววจแห่งชาติมีข้อมูลเบาะแสเบื้องต้นที่รวบรวมมาจากพลเมืองดี ร่วมกับสหพันธ์การขนส่งฯ รวบรวมมาด้วย ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ ได้รับการประสานงานที่ดีจากทั้งจเรตำรวจและตำรวจสอบสวนกลาง ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเบาะแสปลายทาง การสอบสวนขยายผลต้องให้ตำรวจดำเนินการเชื่อว่าทำได้ดีกว่า และตำรวจคงมีข้อมูลไปไกลแล้ว แต่วันนี้นำข้อมูลมาให้เพื่อทวนสอบข้อมูลว่าครบถ้วนตรงกันหรือไม่
นายวิโรจน์ กล่าวว่าตนหวังว่าการหาผลประโยชน์หรือเรียกรับผลประโยชน์ การรังควานกลั่นแกล้งผู้ประกอบการที่สุจริตจะต้องทุเลาเบาบางหรือหมดไป และหวังว่านอกจากส่วยสติกเกอร์แล้ว ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ เช่น โรงโม่หิน บ่อดิน บ่อทราย ผู้ค้าขายหินทรายซึ่งสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องถูกดำเนินคดี และยึดใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
เชื่อมีอัยการมาเกี่ยวข้อง
ส่วนการค้าสำนวนของพนักงานสอบสวนบางคน ที่ทำสำนวนเรียกรับผลประโยชน์ เช่น รถบรรทุกบางคัน บรรทุกน้ำหนักเกินเพียง 100-200 กิโลกรัม วิญญูชนทั่วไปคงเข้าใจได้ว่าไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย เพราะน้ำหนักจะเกินแต่ละครั้งต้องเกินเป็นตัน แต่พนักงานสอบสวนบางคนเอาส่วนนี้ใส่ไว้ในสำนวน เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ และสร้างสัญญาเช่าเท็จจากคนขับรถเปลี่ยนเป็นคนเช่ารถ เพื่อให้รถไม่ต้องถูกยึด
นายวิโรจน์ เผยว่า ไม่เพียงแค่ตำรวจเท่านั้น แต่เรื่องนี้ยังพัวพันไปถึงอัยการบางคน เช่น การที่คดีความไปถึงศาลชั้นต้น พิพากษาโทษปรับ แต่อัยการยังยื่นอุทธรณ์เพื่อให้รถโดนยึด กลับกัน บางกลุ่มบรรทุกเกินเป็นตันก็มีอภินิหารให้โดนเพียงลหุโทษได้ รถคันหนึ่งราคา 3-4 ล้านบาท หากโดนยึดเพราะบรรทุกน้ำหนักเกินเพียงไม่กี่กิโลกรัมอาจไม่เป็นธรรม อาจต้องไปตรวจสอบกฎหมายและแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเหมารวมผู้ประกอบการว่าทำผิดกฎหมายทั้งหมดไม่ได้ เพราะหลายคนก็อยู่ในภาวะจำยอมต่อสภาพเพราะมีระบบแบบนี้เกิดขึ้น
กลุ่มรถบรรทุกยันเปิดโปงไร้วาระซ่อนเร้น
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาชิกของสหพันธ์ฯ ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งสาระสำคัญระบุว่าจะไม่กระทำผิดกฎหมาย หากสมาชิกทำผิด จะขับไล่ออกจากองค์กรทันที
ประธานสหพันธ์ฯ รายนี้ กล่าวถึงกระแสข่าวที่บอกว่าสหพันธ์ฯ สูญเสียผลประโยชน์เพราะผู้ประกอบการบางรายจึงออกมาเคลื่อนไหวนั้น ว่าการออกมาเรียกร้องเปิดโปงครั้งนี้ไม่มีนัยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมี MOU ว่าจะไม่กระทำผิดกฎหมายและตำรวจจะทำงานอย่างเต็มที่และลงไปจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะครั้งนี้มีจเรตำรวจมารับเรื่องซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และขณะนี้สหพันธ์ฯ มีสมาชิกอยู่มากกว่า 400,000 ราย แต่เป็นเพียง 1 ใน 3 ของรถบรรทุกทั้งหมดของประเทศไทยในจำนวน 1.5 ล้านคัน การที่ผู้ประกอบการบางรายไม่เข้าร่วมสมาชิกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ MOU ที่จะกระทำผิดกฎหมายไม่ได้ แต่บางรายก็ต้องจ่ายผลประโยชน์เพื่อการแข่งขันกันทางธุรกิจ
จเรตำรวจรับปากเป็นธรรมทุกฝ่าย
ด้าน พล.ต.อ.วิสณุ เผยว่า จเรตำรวจและกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีคณะทำงานที่ร่วมกันตรวจสอบ ยืนยันไม่ว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวโยงไปถึงข้าราชการระดับใด หรือใครก็ตามที่ข้อมูลพาดพิงไปเกี่ยวข้อง หากกระทำความผิดก็ต้องดำเนินการ แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เรื่องนี้ไม่เพียงแค่ตำรวจทางหลวงเท่านั้น หากข้อมูลไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นหรือหน่วยงานใดก็ต้องดำเนินการ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีไฟไหม้ฟางแน่นอน ส่วนผู้ที่ทำถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องได้รับการคุ้มครอง ขณะนี้ตั้งกรอบระยะเวลาไว้ 15 วัน จะต้องมีความชัดเจน
ส่วนการที่รักษาราชการแทนผู้บังคับตำรวจทางหลวงจะมีคำสั่งย้ายตำรวจทางหลวงนั้น ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของต้นสังกัดโดยตรงไม่ต้องส่งเรื่องมาจเรตำรวจแต่หากทางหลวงดำเนินการไม่แล้วเสร็จก็พร้อมดำเนินการทันที