วิโรจน์ ชี้ ‘อุโมงค์ยักษ์’ 8 พันล้าน ก็จัดการน้ำไม่ได้ ถ้าท่อตามคลองยังแตกเพียบ

Home » วิโรจน์ ชี้ ‘อุโมงค์ยักษ์’ 8 พันล้าน ก็จัดการน้ำไม่ได้ ถ้าท่อตามคลองยังแตกเพียบ



วิโรจน์ สงสัย ‘อุโมงค์ยักษ์’ 8 พันล้าน จัดการน้ำได้จริงหรือ ชี้ตราบใดท่อตามคลองต่าง ๆ ไม่ได้รับการบำรุงรักษา ก็ไม่สามารถระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ

11 ก.พ. 2565 – นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตลาดพร้าว-วังทองหลาง นายณภัค เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตลาดพร้าว และ นายนฤทัช สีบุญเรือง ว่าที่ผู้สมัครส.ก. เขตวังทองหลาง ลงพื้นที่ไปคลองเสือน้อย ถนนสุคนธสวัสดิ์ ก่อนจะลงเรือบริเวณคลองลาดพร้าว เพื่อสำรวจปัญหาระบบจัดการระบายน้ำ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ประตูระบายน้ำเปิด-ปิดไม่สมดุลและสัมพันธ์กัน ทำให้บางจุดเกิดเป็นพื้นที่แก้มลิง ไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้เกิดปัญหาขยะที่สะสมตามมา สะท้อนความล้มเหลวการจัดการระบบระบายน้ำของกทม. ที่ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่เกิดประโยชน์

งบประมาณสำนักการระบายน้ำใน 1 ปี มีจำนวนกว่า 580 ล้านบาท แต่หากหักรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือน จะเหลืองบบำรุงรักษาราว 117 ล้านบาท ในการขุดลอกคูคลองหรือท่อระบายน้ำ ฉะนั้น จำนวนงบประมาณที่เหลือเท่านี้จึงไม่เพียงพอต่อการบำรุงรักษาระบบระบายน้ำให้ใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประตูระบายน้ำต้องมีการจัดการอย่างมีระบบ ไม่ใช่เปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามใจชอบอย่างที่ผ่านมา หากมีระบบที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาน้ำล้นตามชุมชนริมคลองจะแก้ไขได้

เราต้องมีระบบเซ็นเซอร์ดูว่าน้ำในแต่ละจุดมีปริมาณเท่าไร ปลายทางคือระดับน้ำทะเลสูงเท่าไร หากน้ำทะเลหนุนสูงก็จะไม่สามารถระบายน้ำได้ แต่เราจะสามารถคำนวณได้ว่า คลองที่ถูกกั้นโดยประตูระบายน้ำในแต่ละจุดสามารถกักเก็บน้ำได้เท่าไร

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า อุโมงค์ยักษ์ ที่ใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 8,000 ล้านบาท จะช่วยเรื่องระบบการจัดการน้ำได้จริงหรือ ตราบใดที่ท่อซึ่งเป็นเส้นย่อยตามคลองต่าง ๆ ทั่วกทม. ไม่ได้รับการบำรุงรักษา ก็จะไม่สามารถดึงน้ำเข้าไปที่อุโมงค์ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะเจอระบบประตูระบายน้ำพังไม่ได้ซ่อม คลองบางแห่งตื้น ท่อระบายน้ำบางแห่งแตกหัก บางครั้งในเวลาที่ฝนตกหนักจะเห็นว่าน้ำล้นออกจากท่อ ซึ่งไม่ได้เป็นเพราะน้ำท่วม แต่เกิดจากท่อระบายน้ำใต้ดินแตกหักไม่ได้รับการบำรุงรักษา เพราะงบประมาณในส่วนนี้ไม่เพียงพอ

สำนักงานเขตดูแลท่อในซอย สำนักการระบายน้ำดูแลท่อใต้ถนนหลัก คำถามคือการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ เรารู้ว่าฝนจะตกเมื่อไร ปริมาณน้ำฝนเราก็สามารถประเมินได้ ก่อนที่เราจะนำระบบเซ็นเซอร์มาใช้ ระบบพื้นฐานเราต้องมีความพร้อมก่อน

เราต้องแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การตั้งต้นด้วยเทคโนโลยี แต่เราต้องเริ่มต้นในการแก้ปัญหาด้วยปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน หากโครงสร้างพื้นฐานแข็งแรง เราค่อยใส่เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดการน้ำ แต่ระบบพื้นฐานอย่างประตูระบายน้ำทรุดโทรมใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็ไม่สามารถแก้ระบบน้ำได้อยู่ดี หากเครื่องสูบน้ำพัง เราติดตั้งระบบออโต้สตาร์ตไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ