“วิโรจน์” แฉกระบวนการ “ค้าสำนวน” รถบรรทุกน้ำหนักเกินโยงส่วยทางหลวง อาจมีพนักงานสอบสวนบางนายเอี่ยว ย้ำใครลักลอบกระทำอยู่ขอร้องให้หยุด
วันนี้ (2 มิ.ย. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “การค้าสำนวน” รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ต้องเลิกได้แล้ว
ปัญหาส่วยทางหลวง ไม่ได้พัวพันกับตำรวจทางหลวงบางนายเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ด่านชั่งบางคน กับพนักงานสอบสวนบางนาย ก็อาจมีส่วนร่วมด้วย โดยอาศัยกฎหมาย ที่บทกำหนดโทษไม่ได้สัดส่วน เป็นเครื่องมือในการรีดไถผู้ประกอบการขนส่ง โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นนั้น ประกอบด้วย
พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535มาตรา 61 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อรักษาทางหลวง ผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย
มาตรา 73/2 บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 บัญญัติว่า ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
มาตรา 36 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เขาเรียกกันว่า “การค้าสำนวน” ซึ่งทั่วไปมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ 1: รังแกผู้ประกอบการที่ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด ปัจจุบันน้ำหนักจำกัดของรถพ่วง คือ ไม่เกิน 50.5 ตัน ซึ่งรถบรรทุกที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำผิดกฎหมาย ทั่วไปก่อนที่จะออกรถ ก็มักจะชั่งน้ำหนักเอาไว้ก่อนเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหนักที่บรรทุกนั้นไม่เกินแน่ๆ แต่เมื่อถูกเรียกเข้าด่านชั่ง กลับปรากฏว่า น้ำหนักเกิน แต่เกินไปแค่ 100-200 กิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งอาจจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของเครื่องชั่ง ก็เป็นได้ เพราะถ้ามีเจตนาที่จะบรรทุกน้ำหนักเกิน เจ้าของรถบรรทุกเขาไม่บรรทุกเกินแค่ 100-200 กิโลกรัม หรอกครับ แต่ด้วยโทษที่หนักถึงขั้น “ริบรถ” ทำให้พนักงานสอบสวนบางคน ใช้เป็นเครื่องมือในการรีดไถเจ้าของรถ
คือ ถ้ายอมจ่ายส่วยให้ 50,000-70,000 บาท พนักงานสอบสวนก็จะทำสัญญาเช่ารถเท็จขึ้นมา และบันทึกในสำนวนว่า “ผู้ขับรถไม่ได้เป็นลูกจ้างของเจ้าของรถ แต่เช่ารถมาจากเจ้าของรถอีกที” เพื่อให้รถบรรทุกไม่ต้องถูกริบ
รูปแบบที่ 2: ปล่อยผู้ที่มีเจตนาบรรทุกเกินให้ลอยนวล ในกรณีที่มีการจับกุมรถบรรทุกที่มีเจตนาบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างชัดเจน เช่น 70-100 ตัน และเมื่อดูจากสภาพรถ ก็ทราบโดยทันทีว่ามีการดัดแปลงต่อเติมรถ เพื่อบรรทุกน้ำหนักเกิน
รถบรรทุกประเภทนี้ ตามหลักสมควรต้องถูกริบทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เอาไปวิ่งบนถนนอีก แต่ปรากฏว่า พอเจ้าของรถยอมจ่ายส่วยให้กับพนักงานสอบสวนบางนาย พนักงานสอบสวนคนนั้น ก็จะเปลี่ยนน้ำหนักในสำนวนจาก 70-100 ตัน ให้กลายเป็น 52 ตัน (เกิน 50.5 ตันมาเพียงเล็กน้อย) พร้อมกับทำสัญญาเช่ารถเท็จขึ้นมาให้ เพื่อเปลี่ยนโทษจากหนักให้กลายเป็นเบา ที่สำคัญรถบรรทุกที่ควรต้องถูกยึด กลับไม่ต้องถูกยึด ทั้งๆ ที่สภาพรถมีการดัดแปลงเพื่อบรรทุกเกินชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหานี้ คงต้องทบทวนอย่างรอบคอบว่า บทกำหนดโทษตามกฎหมายที่มีอยู่ นั้นสามารถพิจารณาเป็นอัตราก้าวหน้า ที่ได้สัดส่วนกับความผิดที่กระทำ ได้หรือไม่ อย่างไร
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิดนะครับ แต่คนที่กระทำผิด เขาควรต้องได้รับโทษอย่างได้สัดส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน เอาโทษที่หนักเกินสัดส่วน มาใช้เป็นเครื่องมือในการรีดไถ ตบทรัพย์ประชาชน คนที่ไม่ได้มีเจตนาจะกระทำความผิด จะได้ไม่ถูกกฎหมายกลั่นแกล้งรังแก ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีเจตนากระทำความผิด จะได้ไม่ต้องลอยนวล
“สำหรับการค้าสำนวน ที่พนักงานสอบสวนบางคน ยังลักลอบกระทำอยู่ ผมขอร้องให้หยุดเถอะครับ เรื่องแบบนี้มันพิสูจน์ย้อนหลังได้ว่า สำนวนที่พนักงานสอบสวนทำ นั้นตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ โทษในการค้าสำนวนนี่หนักมากนะครับเชื่อผม เลิกได้ก็เลิกเถอะครับ” นายวิโรจน์กล่าว