วิเคราะห์ชัด ๆ : ทำไมทีมชาติไทยต้องใช้ "มาโน่ โพลกิ้ง" ทั้งที่ไม่เคยพาทีมเป็นแชมป์ ?

Home » วิเคราะห์ชัด ๆ : ทำไมทีมชาติไทยต้องใช้ "มาโน่ โพลกิ้ง" ทั้งที่ไม่เคยพาทีมเป็นแชมป์ ?
วิเคราะห์ชัด ๆ : ทำไมทีมชาติไทยต้องใช้ "มาโน่ โพลกิ้ง" ทั้งที่ไม่เคยพาทีมเป็นแชมป์ ?

คงไม่มีกระแสข่าวไหนในวงการฟุตบอลไทย จะร้อนแรงไปกว่าการแต่งตั้ง “มาโน่ โพลกิ้ง” อดีตกุนซือสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ก้าวขึ้นมารับงานเฮดโค้ชทีมชาติไทย ลุยศึกฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020

การตัดสินใจครั้งนี้สร้างเครื่องหมายคำถามในใจแฟนบอลช้างศึกหลายคน เพราะตลอดเวลา 7 ฤดูกาลกับทัพแข้งเทพ มาโน่ โพลกิ้ง ไม่เคยคว้าแชมป์ติดมือแม้แต่ฤดูกาลเดียว เมื่อมองไปยังความล้มเหลวที่ยาวนานขนาดนั้น เฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลดูจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก

แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ … หากมองข้ามความสำเร็จในเรื่องของถ้วยแชมป์ไป มาโน่ โพลกิ้ง มีความเหมาะสมหลายประการที่เข้ากับสถานการณ์ของทีมชาติไทยในเวลานี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ล้มเหลวในเรื่องของผลการแข่งขัน แต่ยังขาดความคึกคักในกระแสวงกว้าง และการมองเป้าหมายระยะยาว

 

Main Stand นั่งวิเคราะห์ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ทีมชาติไทยเลือกใช้ มาโน่ โพลกิ้ง เข้ามาคุมทีมในเวลานี้ ? กับคำตอบที่แสดงให้เห็นว่า เวลาและโอกาส คือสิ่งสำคัญที่เฮดโค้ชรายนี้ต้องการมากที่สุด

ประสบการณ์เกือบ 10 ปี ในวงการฟุตบอลไทย

มาโน่ โพลกิ้ง อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ หรือเคยพาทีมฟุตบอลสักประเทศลุยศึกฟุตบอลโลก แต่สิ่งหนึ่งที่เฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลได้เปรียบสองอดีตกุนซือทีมชาติไทยทั้ง มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ คือการมีประสบการณ์คุมทีมฟุตบอลในประเทศไทยยาวนานเกือบ 10 ปี

อดีตนักเตะของ อาร์เมเนีย บีเลเฟลด์ เดินทางสู่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2011 เพื่อรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติไทย โดยมาโน่ติดสอยห้อยตาม วินฟรีด เชเฟอร์ ผู้จัดการทีมชาวเยอรมันที่เข้ามากุมบังเหียนทัพช้างศึกในเวลานั้น ซึ่งสองคู่หูชาวเยอรมันเคยร่วมงานกันที่ตะวันออกกลางและยุโรปกับสโมสร อัล ไอน์ เอฟซี และ เอฟซี บากู


Photo : www.facebook.com/AfroPicgy

 

ตลอดระยะเวลาในแคมป์ทีมชาติไทยหนแรก มาโน่ ไม่ได้มีช่วงเวลาที่โดดเด่นหรือเป็นที่น่าจดจำอะไรนัก เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า วินฟรีด เชเฟอร์ ไม่ประสบความสำเร็จกับทัพช้างศึก ทำให้ชื่อเสียงของผู้ช่วยโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลย่อมหม่นหมองตามไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้น มาโน่กลับได้โอกาสชิมลางคุมทีมชาติไทยชุดเยาวชน U-22 ลุยศึกชิงแชมป์เอเชีย 2013 รอบคัดเลือก

ทัพช้างศึกยุคนั้นอุดมไปด้วยดาวรุ่งที่จะก้าวเป็นซูเปอร์สตาร์ในอนาคต ทั้ง ชนาธิป สรงกระสินธ์, ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์, ปกเกล้า อนันต์, อดิศักดิ์ ไกรษร และ นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม แต่ด้วยเวลาเตรียมทีมที่มีเพียงหนึ่งสัปดาห์ มาโน่ จึงพาทีมชาติไทยชุดนี้ไปตกรอบที่ประเทศลาว ส่งผลให้ชื่อของเขาถูกวิจารณ์ยับเยินโดยแฟนบอลไทยไม่แพ้ลูกพี่เชเฟอร์

เมื่อ วินฟรีด เชเฟอร์ โบกมือลาทีมชาติไทยในปี 2013 มาโน่ที่เริ่มติดใจการคุมทีมในฐานะเฮดโค้ช จึงกระโดดมารับงานที่สโมสร อาร์มี่ ยูไนเต็ด ซึ่งถือเป็นทีมระดับกลางของไทยลีกในเวลานั้น และเจ้าตัวก็ทำผลงานได้ตามเป้า พาทีมจบอันดับ 6 ของตารางไทยลีก ฤดูกาล 2013

มาโน่ จึงกระโดดมารับความท้าทายที่ใหญ่กว่ากับ สุพรรณบุรี เอฟซี ในฤดูกาล 2014 แต่ผลงานไม่เป็นไปตามเป้า จึงถูกปลดตั้งแต่กลางฤดูกาล เคราะห์ดีที่เขายังได้โอกาสจาก ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ซึ่งกำลังหนีตกชั้น และเป็นเฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลคนนี้ที่นำความสดใหม่มาสู่ทัพแข้งเทพ พาต้นสังกัดจบอันดับ 8 ของตาราง จนได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารทีม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด อย่างเต็มเปี่ยม

หลังจากนั้น มาโน่ โพลกิ้ง ก็คุมสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด อีก 6 ฤดูกาล เขาพัฒนาทัพแข้งเทพจากทีมที่เคยหนีตกชั้นมาตลอดสู่การเป็นทีมลุ้นแชมป์อย่างเต็มตัว โดยผลงานที่ดีที่สุดของเขาคือการพา ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด จบอันดับ 2 ของไทยลีก ฤดูกาล 2016 และ 2018 รวมถึงรองแชมป์รายการช้าง เอฟเอ คัพ เมื่อปี 2017

 


Photo : www.facebook.com/truebangkokunited

แต่ท้ายที่สุด มาโน่ก็มาถึงทางตันกับสโมสรแห่งนี้ หลังจากตลอด 7 ฤดูกาลที่ผ่านมา เขาไม่เคยพาทีมคว้าแชมป์ได้แม้แต่ถ้วยเดียว จึงโบกมือลาทีมไปในช่วงเลกแรกของฤดูกาล 2020-21 ซึ่งถือเป็นการปิดช่วงเวลาคุมทีมรอบแรกในประเทศไทย เพราะหลังจากนั้น มาโน่ย้ายไปหาประสบการณ์ใหม่ที่เวียดนามกับสโมสร โฮจิมินห์ ซิตี้

เข้าใจนักเตะและวัฒนธรรมไทย 

ตั้งแต่การเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาติไทย เมื่อปี 2011 จนถึงวินาทีสุดท้ายบนเก้าอี้เฮดโค้ช ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เมื่อปี 2020 มาโน่ ถือว่าคลุกคลีกับวงการฟุตบอลไทยมานานเฉียด 10 ปี หากเรามองไปที่ความสำเร็จที่ว่างเปล่าจากผลงาน 0 แชมป์ ใน 10 ปี เฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลย่อมไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักสำหรับทีมชาติไทย


Photo : www.facebook.com/truebangkokunited

 

แต่ผลงานที่ผ่านมาของ มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ แสดงให้เห็นแล้วว่า ความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีถึงผลงานที่ดีกับทีมชาติไทย และถ้าเรามองย้อนไปถึง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ที่ประสบความสำเร็จมากมายกับทัพช้างศึก ก่อนเขาจะเข้ามารับงานตรงนี้ในปี 2013 เกียรติศักดิ์ประสบความสำเร็จแค่การคว้าแชมป์ถ้วย ก. กับ ชลบุรี เอฟซี เมื่อปี 2009

สิ่งที่ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และ มาโน่ โพลกิ้ง มีร่วมกัน แต่เป็นสิ่งที่ มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ ไม่มี จึงเป็น “ความเข้าใจในวงการฟุตบอลไทย” ซึ่งกลายเป็นเรื่องสำคัญจนมองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะกับประเทศที่กีฬาฟุตบอลอาชีพเพิ่งแข็งแรงได้ราว 10 ปี และยังมีวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเองอยู่มาก

ตลอดระยะเวลา 7 ฤดูกาล ที่มาโน่อยู่กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด มีเฮดโค้ชต่างชาติมากมายในไทยลีกที่อยู่ไม่ได้และโบกมือลาไปก่อนเวลาอันควร เพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานกับนักเตะไทย ที่ต้องให้ความสำคัญกับคำว่า “สบาย ๆ” และต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควร

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ มาโน่ โพลกิ้ง เพราะตลอด 7 ฤดูกาลกับทัพแข้งเทพไม่เคยมีกระแสข่าวว่าเฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลรายนี้ถูกนักเตะรวมหัวกันเตะไล่โค้ช ทั้งที่ทัพแข้งเทพไม่ได้ประสบความสำเร็จ นี่คือหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า มาโน่ สามารถผ่อนหนักผ่อนเบาและเข้าใจหัวอกนักเตะชาวไทยได้เป็นอย่างดี

มาโน่ ยังแสดงให้เห็นถึงอีกหนึ่งข้อได้เปรียบจากการทำงานในประเทศไทยมาเกือบ 10 ปี ด้วยการคุมทีม ไทยลีก ออลสตาร์ ลงฟาดแข้งกับทีมชาติไทยในเกมอุ่นเครื่อง ช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิล ได้เลือกนักเตะชาวไทยส่วนหนึ่งที่ถูกมองข้ามจากทีมชาติมารวมกันเป็นทีม โดยเกมนั้นเสมอกัน 2-2

 


Photo : www.facebook.com/ThailandNTOFFICIAL

แม้จะเป็นแค่เกมเพียงหนึ่งนัดที่ไม่มีผลในเชิงรูปธรรม แต่ มาโน่ โพลกิ้ง ก็แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์อันยาวนานในประเทศไทย ผ่านการเลือกแข้งดาวรุ่งที่ไม่มีชื่อเสียงในวงกว้าง แต่สำหรับเฮดโค้ชอย่างเขานี่คือนักเตะที่มีคุณภาพและสมควรถูกเลือกมาใช้งาน ทั้ง เชาว์วัฒน์ วีระชาติ, สหรัฐ สนธิสวัสดิ์ และ จักรกฤษ ลาภตระกูล พวกเขาเหล่านี้จึงมีโอกาสลงเล่นในเกมสำคัญระดับนี้เป็นครั้งแรก

เห็นได้ชัดว่า มาโน่ โพลกิ้ง ไม่กลัวที่จะเรียกนักเตะหน้าใหม่มาใช้งาน ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ของ มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ เพราะทั้งสองไม่รู้จักนักเตะไทย และมักใช้แมวมองตระเวนดูฟอร์ม ท้ายที่สุดมักจะได้นักเตะหน้าเดิมหรือนักเตะที่เป็นกระแสในขณะนั้น ส่วนใครที่ไม่มีชื่อเสียงก็จะถูกมองข้ามไป

แต่สำหรับ มาโน่ ซึ่งคลุกคลีกับแข้งอย่าง ชนาธิป, ฐิติพันธ์ และ นฤบดินทร์ ตั้งแต่ตอนที่ซูเปอร์สตาร์เหล่านี้ยังเป็นดาวรุ่ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มาโน่ จะรู้จักนักเตะไทยเหล่านี้ดีขนาดไหน นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่เขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นกุนซือทีมชาติไทยคนใหม่ เพราะนี่คือจุดแข็งที่เฮดโค้ช 2 คนก่อนหน้านี้ไม่มี

บอลเกมรุก บุกสะใจ คนไทยชอบ

หนึ่งในครื่องหมายการค้าของ มาโน่ โพลกิ้ง ที่แฟนบอลไทยจดจำได้ดี คือฟุตบอลเกมรุกบุกเร้าใจ ซึ่งบางครั้งกลายเป็นการเล่นเกมบุกที่มากเกินไป จนอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ไม่มีแชมป์ติดมือตลอด 7 ฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม การมองแค่ความสำเร็จปลายทางก็ดูเหมือนจะเป็นการตั้งแง่ที่มีอคติกับ มาโน่ โพลกิ้ง มากเกินไป เพราะถ้าเรามองไปถึงรายละเอียดเกมรุกของเขา คงต้องยอมรับว่า เฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลรายนี้ มีของในการสร้างสรรค์เกมรุกให้ออกมาฉูดฉาดเร้าใจสุด ๆ


Photo : www.facebook.com/truebangkokunited

ย้อนกลับไปในฤดูกาล 2016 มาโน่ โพลกิ้ง สามารถสร้าง 4 ประสานเกมรุก เจย์ซี จอห์น, กิลแบร์โต้ มาเชน่า, มาริโอ ยูรอฟสกี้ และ ดราแกน บอสโควิช นำมาสู่ผลงานยิง 72 ลูก เยอะเป็นอันดับสองของไทยลีกซีซั่นดังกล่าว โดยเป็นรองเพียง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ยิงไป 73 ลูก และคว้าแชมป์ไทยลีกปีนั้นไปครอง

ความผิดพลาดของมาโน่ในฤดูกาล 2016 จึงเป็นการเน้นเกมรุกที่มากเกินไป เพราะตัวต่างชาติทั้ง 5 คนของ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ในซีซั่นดังกล่าวเป็นผู้เล่นเกมรุกทั้งหมด อย่างไรก็ดี นี่กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของมาโน่และทัพแข้งเทพ ส่งผลให้แฟนบอลของของทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เพิ่มขึ้นพรวดพราดหลังจากนั้น

ถัดมาในฤดูกาล 2017 มาโน่ โพลกิ้ง ต้องเจอกับโจทย์ใหญ่ เมื่อ 2 กองหน้าแห่งฤดูกาล 2016 ทั้ง เจย์ซี จอห์น และ กิลแบร์โต้ มาเชน่า เจ็บยาวต้องพักทั้งฤดูกาล เขาต้องปรับ ดราแกน บอสโควิช ขึ้นมายืนเป็นกองหน้าตัวเป้า และเปลี่ยน มาริโอ ยูรอฟสกี้ จากเพลย์เมคเกอร์คอยปั้นเกม กลายเป็นกองกลางตัวรุกที่พร้อมสอดขึ้นมาทำประตู

ความเปลี่ยนแปลงด้านแทคติกครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการทำเกมรุกของมาโน่ เมื่อทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ยิงหมดแม็ก 97 ประตู ในฤดูกาล 2017 มากกว่าแชมป์ลีก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เสียอีก โชคร้ายที่เกมรับกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ มาโน่ทำทัพแข้งเทพเสียประตูไป 57 ลูก มากที่สุดของท็อป 6 ในฤดูกาลดังกล่าว

หลังจากจบฤดูกาล 2017 มาโน่ โพลกิ้ง ไม่เสียเวลาไปแก้ไขปัญหาเกมรับ แต่เลือกแนวทางใหม่ในการสร้างเกมรุกที่วูบวาบยิ่งกว่าเดิม เขาปล่อย 4 นักเตะตัวรุกคู่บุญจากปี 2016 ออกจากทีมทั้งหมด และเริ่มต้นใหม่กับสองคู่หู วานเดอร์ หลุยซ์ และ ร็อบสัน สองกองหน้าที่มีจุดเด่นไปกับบอลได้ดี ซึ่งเป็นดาวยิงที่ทัพแข้งเทพไม่เคยใช้มาก่อน

แน่นอนว่า วานเดอร์ หลุยซ์ และ ร็อบสัน ไม่สามารถพา ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปถึงแชมป์ แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังยิงได้ 68 ประตู สูงสุดเป็นอันดับสามของฤดูกาล 2017 และถ้าพูดกันตามตรง เกมรับของทัพแข้งเทพซีซั่นดังกล่าวดีขึ้นมาก พวกเขาเสียไปแค่ 36 ประตู น้อยเป็นอันดับ 3 ร่วมของลีก เท่ากับ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด


Photo : www.facebook.com/truebangkokunited

ตลอดฤดูกาล 2016-18 แสดงให้เห็นแล้วว่า มาโน่ โพลกิ้ง สามารถทำเกมรุกได้หลากหลายแบบ ทั้งการเล่นด้วยระบบกองหน้าตัวเป้าคู่กับปีกสองข้างเมื่อปี 2016, กองหน้าตัวไล่บอลคู่กับตัวรุกด้านหลังในปี 2017 และตัวรุกความเร็วสูงในปี 2018 นี่จึงกลายเป็นสีสันใหม่ของทีมชาติไทย ซึ่งขาดหายไปนานหลายปี

เราต้องยอมรับว่า ทีมชาติไทยในยุค มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ ไม่เคยสร้างกระแสแบบทัพช้างศึกยุค “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เพราะการเน้นฟุตบอลเกมรับด้วยเช่นกัน และนักเตะไทยก็ไม่ชื่นชอบที่จะเล่นฟุตบอลเน้นผลลัพธ์ด้วย หาก มาโน่ โพลกิ้ง สามารถร่ายเวทมนตร์เกมบุกของเขาออกมาได้ กระแสฟุตบอลทีมชาติไทยน่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง แค่มันจะปังขนาดไหนเท่านั้นเอง เพราะมาโน่เองก็ไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมที่มีเพียงนักเตะไทยล้วน 100%

ถนัดทำทีมระยะยาว และกล้าจะลองผิดลองถูก

เหมือนที่ทุกคนรู้ดีว่า มาโน่ โพลกิ้ง ได้โอกาสทำงานกับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด นาน 7 ฤดูกาล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะได้คุมทีมระดับสูงแต่ไม่มีถ้วยแชมป์ติดมือ แล้วยังได้รับโอกาสยาวนานขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการฟุตบอลไทย แต่มาโน่กลับเป็นคนนั้น ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้ช่วยฝึกฝนแนวทางการทำทีมระยะยาวของเขา

สิ่งหนึ่งที่ มาโน่ ได้เปรียบเฮดโค้ชคนอื่นในประเทศไทยมาตลอด คืออำนาจในการเลือกตัวผู้เล่นเข้าสู่ทีม ซึ่งอยู่ในมือของเฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลเพียงผู้เดียว นักเตะไทยคนไหนที่เขาต้องการ นักเตะต่างชาติคนไหนที่เขาต้องการ หากผู้บริหารทีมสามารถจัดหาให้ได้ มาโน่จะได้นักเตะเหล่านั้นมาใช้งานทั้งหมด


Photo : www.facebook.com/truebangkokunited

การไม่ต้องต่อสู้หรือตกอยู่ใต้อำนาจเฮดของเฮดโค้ชเหมือนหลายสโมสรในไทย ช่วยเพิ่มอิสระในการตัดสินใจของ มาโน่ โพลกิ้ง ซึ่งนั่นรวมถึงอิสระในการสร้างแทคติกของตัวเองที่เอื้ออำนวยกับการวางแผนทำทีมในระยะยาว ซึ่งถ้ามองไปยังทีมชาติไทยในขณะนี้ นี่คือสิ่งที่ทัพช้างศึกต้องการมากที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามาของ มิโลวาน ราเยวัช และ อาคิระ นิชิโนะ ล้วนเป็นเป้าหมายระยะสั้นของประเทศไทย ที่ต้องการเตรียมทีมไปลุยศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ก่อนจะส่งไม้ต่อไปยังฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก แต่ถ้าเรามองกันตามความจริง ทีมชาติไทยคงไม่ใกล้เคียงคำว่า “ไปฟุตบอลโลก” ภายใน 10-20 ปีนี้แน่

สิ่งที่ฟุตบอลไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงในเวลานี้ ควรจะเป็นการทำทีมในระยะยาวภายใต้แทคติกที่เป็นรูปแบบของฟุตบอลไทยจริง ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า นักเตะชาวไทยถนัดเล่นฟุตบอลเกมรุกมากกว่าเกมรับ ซึ่งสิ่งที่ผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอลไทยต้องทำจึงไม่มากไปกว่าการเลือกโค้ชคนหนึ่งที่เข้าใจนักเตะไทย และสร้างแทคติกฟุตบอลเกมรุกได้ดี

มาโน่ โพลกิ้ง จึงกลายเป็นคนที่ตอบโจทย์ตรงนั้น แม้เขาจะไม่เคยประสบความสำเร็จอะไรเลยก็ตาม แต่ถ้าคุณอ่านการเปลี่ยนแทคติกเกมรุกในปี 2016-18 ของ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด คงพอมองออกแล้วว่า มาโน่ เป็นเฮดโค้ชที่มีแผนการในหัวชัดเจน สิ่งที่เขาต้องการคือเวลาและโอกาสในการลองผิดลองถูก

ประสบการณ์การเลือกนักเตะด้วยตัวเองตลอด 7 ฤดูกาลกับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด รวมถึงผลงานที่แสดงให้เห็นมาแล้วในทีมไทยลีก ออลสตาร์ ถ้า มาโน่ โพลกิ้ง มีเวลามากพอ เขาจะสามารถเลือกนักเตะเข้ามาลองใช้งาน และปรับแทคติกจนกว่าจะเจอทีมที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะไม่สามารถสร้างความสำเร็จได้ภายในปีเดียว 

หากผู้มีอำนาจในวงการลูกหนังและแฟนฟุตบอลชาวไทย สามารถอดทนรอและกล้าให้โอกาส มาโน่ โพลกิ้ง แบบที่ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เคยทำ … ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีของทัพช้างศึกที่ตามมา เพราะ มาโน่ โพลกิ้ง คือโค้ชที่มีลูกบ้าและความกล้าอยู่ในตัว ซึ่งมากพอ ๆ กับการสร้างความผิดพลาดในเรื่องเดิม ๆ


Photo : www.facebook.com/truebangkokunited

การเสี่ยงกับ มาโน่ โพลกิ้ง จึงขึ้นอยู่แค่ว่า เฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลจะเรียนรู้ ปรับปรุง และแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองในระยะยาวได้แค่ไหน ถ้าทีมชาติไทยกล้าจะให้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี และอิสระเต็มร้อย ให้ มาโน่ มาช่วยพัฒนาทีมชาติไทยในทิศทางของตัวเอง อดีตโค้ชแข้งเทพอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่เลว

แต่ถ้า มาโน่ โพลกิ้ง เป็นตัวเลือกชั่วคราวที่ต้องมาวัดผลงานกันอีกทีในซูซูกิ คัพ 2020 ช่วงปลายปีนี้ นี่คงเป็นการตัดสินใจที่ล้มเหลวอีกครั้ง เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าเขาไม่ได้มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างความสำเร็จ แต่การพัฒนาทีมในระยะยาวต่างหากที่เป็นจุดเด่น 

หากทีมชาติไทยหวังแค่แชมป์อาเซียน มาโน่ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีแน่ แต่ถ้าทัพช้างศึกมองถึงการพัฒนาระยะยาว มองถึงการยกระดับทีมที่เริ่มไร้ทิศทางให้กลับมามีความกระหายอีกครั้ง มาโน่ โพลกิ้ง อาจจะเป็นใครคนนั้นสำหรับทีมชาติไทย แม้สักวันเฮดโค้ชชาวเยอรมัน-บราซิลอาจพาทีมไปเจอทางตัน เหมือนกับตอนที่เขาคุม ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด แต่หากกระแสของฟุตบอลทีมชาติไทยสามารถกลับคืนมาได้ระหว่างทาง

มาโน่ โพลกิ้ง คือเฮดโค้ชที่ทีมชาติไทยน่าลองเสี่ยงดูสักตั้งอยู่เหมือนกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ