ไม่ว่าคะแนน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าคะแนน นายอนุทิน ชาญวีรกูล
อาจได้รับความสนใจน้อยหากเทียบกับคะแนนของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หรือแม้กระทั่งคะแนนของ นายสุชาติ ชมกลิ่น
แต่น่าสนใจเมื่อเทียบกับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพราะนี่มิได้เป็นครั้งแรกที่คะแนนไว้วางใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เหนือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งหมดนี้สะท้อน “ปม” อะไรในทางการเมือง
ถามว่าคะแนน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มาจากไหน
คำตอบเด่นชัดอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
นี่คือรากฐานอันต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างสิ้นเชิง
การดีลระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในสถานะหัวหน้าพรรค ด้วยกันจึงเป็นการดีลอันทรงความหมาย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีพื้นฐานเช่นนี้
สถานะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จึงดำรงอยู่อย่างมี “ฐาน”
เป็นฐานอันแข็งแกร่งตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เป็นฐานอันแข็งแกร่งหากจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2566
ฐานนี้เองที่ทำให้มี “อำนาจ” อย่างเป็นจริง
ฐานแบบนี้เองที่ก่อให้เกิดความคิดที่จะผลักดันให้เกิดพรรครวมไทยสร้างชาติจากกลุ่มที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้มข้นมากขึ้น
เพื่อยึดกุม “อำนาจ” ในการต่อรองให้สูงยิ่งขึ้น
หากมองจากคะแนน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายอนุทิน ชาญวีรกูล สะท้อนอะไร
สะท้อนว่า การเมืองมิได้ต่อสู้กันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ตรงกันข้าม ภายในรัฐบาลด้วยกัน ภายใน “กลุ่ม 3 ป.” ด้วยกันก็มีการต่อสู้
เป็นการต่อสู้และช่วงชิง “การนำ” ว่าอยู่ในมือของใคร