เสียงเรียกร้องให้ “ปรับครม.” ที่ดังจากพรรคพลังประชารัฐ “ทรงความหมาย”
เป็นความหมายที่ต้องการให้เป็นความจริงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความต้องการโดยพื้นฐานซึ่งดังมาอย่างต่อเนื่องจากพรรคเศรษฐกิจไทย
นี่ย่อมเป็นทั้ง “โจทย์” และ “โจทก์” ในทางการเมือง
เป็นโจทย์ในทางการเมืองที่เสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นโจทก์ที่ได้รับผลสะเทือนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ความหมาย” จึงเกิดขึ้นโดย “อัตโนมัติ”
น่าสนใจก็ตรงที่เป็นความหมายซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เองก็รับรู้มาต่อเนื่อง
เพราะไม่เพียงแต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้นที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขณะเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
หากแม้กระทั่ง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานขณะเป็นเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ
ถูกปลดโดยฝีมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ความหมาย” ของการปรับครม.จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
อ่อนไหวเพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในสถานะอันเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างคู่ของความขัดแย้ง 2 ฝ่ายในทางการเมือง
นั่นก็เป็น “น้อง” นั่นก็เป็น “ลูกน้อง”
เมื่อเข้าดำรงอยู่ในสถานะแห่งรักษาการ “นายกรัฐมนตรี” บรรดาลูกน้องจากภายในพรรคพลังประชารัฐและจากพรรคเศรษฐกิจไทยก็ “ร้อง” ขึ้น
เช่นนี้แล้ว “พี่ใหญ่” จะทำอย่างไร
จังหวะก้าวในการตัดสินใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงทรงความหมาย
ไม่ว่าจะมองจากด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจากด้านของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์
นี่คือหินลองทองต่อความเป็น “พี่ใหญ่” อย่างแหลมคม