วิเคราะห์การเมือง – เส้นทาง วิบาก ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลัง ‘สิงหาคม’

Home » วิเคราะห์การเมือง – เส้นทาง วิบาก ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลัง ‘สิงหาคม’



ยิ่งใกล้วันที่ 25 สิงหาคม สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งมีความหวั่นไหว

เนื่องจากบรรทัดฐานที่สำคัญก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557

เมื่อถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2565 จึงเท่ากับ 8 ปี

ใครก็ตามที่ได้เห็นและอ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนี้ก็ย่อมเข้าใจไปตามนั้น

นี่คือบรรทัดฐานและความรับรู้โดยพื้นฐาน

เงื่อนปมอันทำให้ไม่เข้าใจเช่นนั้นที่สำคัญมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง

ประจักษ์พยานที่สำคัญ 1 ก็คือ การยืนยันที่จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนเข้าสู่การประชุมเอเปก และจนครบอายุสภาในเดือนมีนาคม 2566

ประจักษ์พยานที่สำคัญ 1 คือความพยายามในการ “ไปต่อ”

ไม่เพียงแต่จะแสดงท่าทีว่าเป็น “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น หากแต่ยังสัมผัสผ่านการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองบางพรรค

เด่นชัดยิ่งว่า 8 ปีมิได้นับจากเดือนสิงหาคม 2557

ความร้อนแรงและทวีความแหลมคมของอายุ 8 ปี กลับมาจากอารมณ์ในทางสังคม

มิได้เป็นอารมณ์อันมาจากพรรคฝ่ายค้านใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หรือจากพรรคฝ่ายค้านรองอย่างพรรคก้าวไกล

หากแต่มาจาก “กลุ่ม” ที่เคยเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวผ่านกระบวนการ 99 พลเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นผ่านการสำรวจของ “นิด้าโพล”

เป็นไปในแนวให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาตัวเอง

มีความเชื่อค่อนข้างสูงว่าโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือได้ “ไปต่อ”

กระนั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ “ไปต่อ” ไม่ว่าโดยผ่านกระบวนการแบบใด แต่เส้นทาง “ไปต่อ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ราบรื่น

เส้นทางนับจากเดือนสิงหาคม 2565 จะเป็นเส้นทาง “วิบาก”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ