การเคลื่อนไหวของ 99 พลเมืองในการเบรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แหลมคม
ที่แหลมคมไม่เพียงเพราะเห็นชื่อ นายปราโมทย์ นาครทรรพ หรือชื่อของ นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ซึ่งเคยเคลื่อนไหวกับ “พันธมิตร”
หากเห็นชื่อ นางสุนี ไชยรส ชื่อของ นายประยงค์ ดอกลำไย
ยิ่งเป็นชื่อของ นายประยงค์ มูลสาร ชื่อของ นายกมล กมลตระกูล ยิ่งชวนให้ถวิลหาถึงบรรยากาศก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
เป้าหมายคือเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คล้ายกับเป็นการเตือนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นั่นย่อมเป็นสถานการณ์ที่ปัญญาชน นักวิชาการ 100 คนร่วมกันเข้าชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยุติบทบาท
อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการ “เตือน” ทางการเมือง
เป็นการเตือนบนพื้นฐานที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นการเตือนในเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่มาเกือบ 8 ปีแล้ว
จึงสมควรแก่เวลาที่จะอำลาจากไป
การขับเคลื่อนของ 99 พลเมืองก็เช่นเดียวกับก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2561
เพราะว่าหากนับจากเดือนสิงหาคม 2557 มายังเดือนสิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่มาต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ปี
จึงเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะต้องอำลา
นอกจาก 8 ปีเป็นวาระทางการเมืองสะท้อนประชาธิปไตย “อารยะ” รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยังบัญญัติอย่างเด่นชัดกำหนดวาระ 8 ปี
ปมจึงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดอย่างไร
เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการ “ไปต่อ” ในทางการเมือง
ไม่เพียงไปต่อแต่เพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากยังหมายรวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ด้วย
คำถามอยู่ที่ว่า “ประชาชน” จะให้ “ไปต่อ” หรือไม่