วิเคราะห์การเมือง : เส้นทาง การเมืองวิถี แห่ง พริษฐ์ วัชรสินธุหลัง “รี-โซลูชั่น” เส้นทาง การเมืองวิถี แห่ง พริษฐ์ วัชรสินธุหลัง “รี-โซลูชั่น” : การประชุมรัฐสภาในวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน มีลักษณะ “ประวัติศาสตร์” แหลมคม ไม่เพียงแต่เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไข ผเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จากการเสนอของ ภาคประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มรี-โซลูชั่น” เท่านั้น หากแต่ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มนี้คือ 100,000 รายชื่อประชาชน ความแหลมคมอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เคยมีความพยายามแบบเดียวกันนี้จากภาคประชาชน และได้ถูกปัดปฏิเสธจากที่ประชุมรัฐสภาไปอย่างเลือดเย็น มติจากที่ประชุมรัฐสภาจึงมีความสำคัญเป็น อย่างสูง การเคลื่อนไหว “ภาคประชาชน” สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวการเมือง “ภาคประชาชน” นั่นก็คือ ครั้งแรกกระทำในนาม “ไอ-ลอว์” แต่สัมพันธ์กับกระบวนการเคลื่อนไหวของ “เยาวชน” คนรุ่นใหม่เป็นอย่างสูงและมีความต่อเนื่อง จากเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2563 สำหรับครั้งใหม่กระทำในนามของ “กลุ่มรี-โซลูชั่น” ภายใต้คำขวัญอันเข้มข้นที่ว่า “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ฟาดกระหน่ำเข้าใส่อย่างตรงไปตรงมา ที่สำคัญคือ ตัวละครที่เข้ามา “เล่น” หากมองการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรี-โซลูชั่น” ก็จะมองเห็น “โครงสร้าง” ได้อย่างเด่นชัด โครงสร้างหนึ่งย่อมโยงไปยังคณะก้าวหน้าผ่าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล โครงสร้างหนึ่งย่อมโยงไปยังกลุ่มคอนแล็บผ่าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นองค์ประกอบสะท้อนภาพ “นักการเมือง” รุ่นใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจยังติดโซ่ตรวนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี แต่สำหรับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เมื่อออกจากพรรคประชาธิปัตย์เส้นทางก็เปิดโล่ง เมื่อจบภารกิจจาก “กลุ่มรี-โซลูชั่น” ย่อมฉลุยในทางการเมือง เส้นทางของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ย่อมจะได้รับความสนใจอย่างสูงในทางการเมือง มีคำถามตามมา 2 คำถามอันแหลมคม 1 ก็คือเขาจะหวนกลับไปยังพรรคประชาธิปัตย์อีกหรือไม่ 1 หากไม่หวนกลับพรรคประชาธิปัตย์เส้นทางของเขาจะเป็นอย่างไร หรือว่าจะเข้าไปใกล้กับเส้นทางของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล