การปราศรัยของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่สงขลา ได้กลายเป็น“เดิมพัน”สำคัญ
เป็นเดิมพันเพื่อการต่อรอง 1 ต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ และ 1 ต่ออนาคตทางการเมืองของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เพราะเป็นการปราศรัยด้วยน้ำเสียงอัน“สั่นเครือ”
ยืนยันถึงการอ้อนวอนและร้องขอให้มวลชน “คนปักษ์ใต้ บ้านเรา”ให้หวนคืนมาให้ความภักดี ต่อพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง
“เดิมพัน” ครั้งนี้มีความสำคัญ ทรงความหมาย
หากมองพัฒนาการของพรรคประชาธิปัตย์อย่างสัมพันธ์กับฐานเสียงใน“ภาคใต้”
ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ และค่อยๆ รุกคืบเข้าไปยึดครองพื้นที่ภาคใต้
โดยเฉพาะสถานการณ์พิเศษทางการเมืองยุคหลัง
นั่นก็คือ การเมืองในยุคประชาธิปไตย“ครึ่งใบ” โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และการขึ้นมาอยู่ในความนิยมเป็นอย่างสูงของ นายชวน หลีกภัย
ถึงกับเห็นว่าส่ง“เสาไฟ”ลงสมัครก็ยัง ได้รับ“เลือก”
พรรคประชาธิปัตย์เมื่อขึ้นสู่กระแสสูงก็ค่อยๆเสื่อมทรุด ตกต่ำลงเป็นลำดับ
เป็นความตกต่ำเมื่อปรากฏพรรคไทยรักไทยขึ้น เป็นความตกต่ำพร้อมกับความพ่ายแพ้ในยุคปลาย ของ นายชวน หลีกภัย
ต่อเนื่องถึงยุค“บัญญัติ”และยุค“อภิสิทธิ์”
การบอยคอตการเลือกตั้ง การยกพวกออกจากรัฐสภาไปเคลื่อนไหวบนท้องถนนจากการนำ ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือสัญญาณแห่งความตกต่ำ
กระทั่งมาถึงยุคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อย่างที่เห็น
“เดิมพัน”อันมาจากน้ำเสียงสั่นเครือของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จึงทรงความหมาย
เพราะว่าเป็นการฝากอนาคตไว้กับการตัดสินใจของ “ปักษ์ใต้ บ้านเรา”ในขณะที่มีผู้เสนอตัวเข้ามาแข่งขันเป็นจำนวนมากมายอย่างเป็นพิเศษ
คำตอบจะเห็นได้ชัดเมื่อถึงการเลือกตั้งในปี 2566