ปรากฎการณ์การแพร่ข่าว พรรคก้าวไกลจะยกเลิก “บำเหน็จบำนาญ” ร้อนแรงยิ่ง
เป็นความร้อนแรงเพราะว่าเผยแพร่ผ่าน “ไลน์กลุ่ม” ของรัฐมนตรีคนหนึ่งแห่งพรรคประชาธิปัตย์ และถูกระบุอย่างทันควันจากพรรคก้าวไกล
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ ยืนยันว่าไม่ใช่ “เฟกนิวส์”
การต่อกรทางการเมืองอันมีจุดเริ่มจากคำอภิปรายของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จึงร้อนแรงเป็นอย่างยิ่งในกลางดึกของคืนวันที่ 2 มิถุนายน
เป็นการปะทะระหว่าง”ประชาธิปัตย์” กับ “ก้าวไกล”
บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์เช่นนี้มิได้เป็นบทบาทใหม่ หรือเพิ่งปรากฏทางการเมือง
หากจำกันได้ในสถานการณ์หลังกรณีสวรรคตอย่างมากด้วยเงื่อนงำเมื่อเดือนมิถุนายน 2489 คนของพรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าร่วมส่วนอย่างดุเดือด
รูปธรรมคือการส่งคนไปร้องตะโกนใน “โรงหนัง”
ต่อมา ภายหลังสถานการณ์สลายการชุมนุมในเหตุเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็ตามมาด้วยการสร้างประโยคติดตาฝังใจ “จำลองพาคนไปตาย”
เป้าหมายคือพรรคพลังธรรม คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
ปรากฏการณ์ที่คนของพรรคประชาธิปัตย์พุ่งเป้าเข้าใส่พรรคก้าวไกลจึงมิได้เป็นเรื่องใหม่
คำถามอยู่ที่ว่าการปล่อย “ข่าวลือ” ในกรณีเงินบำเหน็จบำนาญจะส่งผลสะเทือนเท่ากับกรณีสวรรคต และกรณี “จำลองพาคนไปตาย” หรือไม่
เมื่อเป้าของพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคก้าวไกล
แรงโต้กลับอย่างฉับพลันทันใด คือ การใช้เวทีรัฐสภาในการเปิดโปง และตามมาด้วยการใช้เวทีโซเชี่ยลมีเดียในการโต้กลับกระทั่งกลายเป็น “ไวรัล”
เป้าหมายย่อมพุ่งตรงไปยัง “ประชาธิปัตย์” ชัดเจน
พรรคประชาธิปัตย์อาจเป็นพรรคการเมืองซึ่งมากด้วยความจัดเจนในทางการเมือง
เป็นความจัดเจนที่สะสมมาอย่างยาวนานในยุคแห่ง “อนาล็อก” แต่เมื่อเข้าสู่ยุคแห่ง “ดิจิทัล” ความจัดเจนนี้จะยังมากด้วยเขี้ยวคมเพียงใด
พรรคก้าวไกลกำลังพิสูจน์ทราบอย่างเอาการเอางาน