การขยับและปรับตัวของพรรคพลังประชารัฐส่งผลสะเทือนในทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นการขยับตัวจากสถานการณ์การลงมติ “ขับ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ 20 ส.ส.ออกจากพรรคกลางดึกของคืนวันที่ 19 มกราคม
ไม่ว่าจะเป็นการขยับและปรับตัวของ “บางคน”
เห็นได้จากการยื่นใบลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของ นายสกลธี ภัททิยกุล เห็นได้จากการยื่นใบลาออกจากพรรคพลังประชารัฐของ ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร
คำถามที่ตามมาก็คือคนของพรรคพลังประชารัฐเหล่านี้จะไปไหน
ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เราเห็นการขยับปรับตัวของพรรคเพื่อไทย
นั่นก็คือ การจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติ นั่นก็คือ การจัดตั้งพรรคประชาชาติ นั่นก็คือ การจัดตั้งพรรคเพื่อชาติ
ล้วนเป็นคนที่เคยอยู่กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
นักการเมืองอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองอย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองอย่าง นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์
เรียกในตอนนั้นว่าเป็นกลยุทธ์“แตกแบงก์” ทางการเมือง
มาถึงสถานการณ์ในเดือนมกราคมต่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กลับเป็น “พลังประชารัฐ”
มีการจัดตั้งพรรคการเมือง“ใหม่”ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของพรรคเศรษฐกิจไทย
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนเคยอยู่ภายใต้ร่มธงของ“พรรคพลังประชารัฐ”
ไม่ว่าจะเป็น นายอุตตม สาวนายน ไม่ว่าจะ เป็น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ว่าจะเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล ไม่ว่าจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
นี่คือยุทธการ “แตกแบงก์พัน” จากพรรคพลังประชารัฐ
เหมือนกับการเคลื่อนไหวทั้งหมดเพื่อรับมือกับกติกาการเลือกตั้งในแบบบัตร 2 ใบ
เท่ากับเป็นการรับรู้ต่อสภาพความเป็นจริงว่าลำพังพรรคพลังประชารัฐพรรคเดียวยากเป็นอย่างยิ่งจะสามารถต่อกรกับพรรคเพื่อไทยอันต่อยอดจากพรรคไทยรักไทยได้
คาดหมายได้เลยว่าเลือกตั้ง “ครั้งหน้า” ร้อนแรงเป็นอย่างสูง