วิเคราะห์การเมือง – อารมณ์ สังคมผ่าน “ดนตรีในสวน” ดัชนี ประชาชน

Home » วิเคราะห์การเมือง – อารมณ์ สังคมผ่าน “ดนตรีในสวน” ดัชนี ประชาชน


วิเคราะห์การเมือง – อารมณ์ สังคมผ่าน “ดนตรีในสวน” ดัชนี ประชาชน

ยอมรับเถิดว่าปัญหาและความขัดแย้งใน“สังคมไทย”นั้น“ลึกซึ้ง”จนถึงกับน่ากลัว

ไม่ต้องนำเอาภาพการเคลื่อนไหวของ“กลุ่มทะลุยฟ้า”มาวางเรียงเคียงกับการปรากฏขึ้นของ “เค 900”พร้อมกับกองทัพงูอันน่าสยดสยอง

หากเพียงมองผ่าน“ดนตรีในสวน”ก็เห็นได้ชัด

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ณ สวนเบญจกิติ กับ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ณ มิวเซียมสยาม

ปัจจัยที่เด่นชัดก็คือ การเข้าร่วมของ “ประชาชน”

แน่นอน ภาพจำจาก“ดนตรีในสวน”เฉพาะหน้าย่อมมาจากสวนรถไฟ สวนลุมพินี

ที่สวนรถไฟอาจเป็นบรรยากาศในแบบสุนทราภรณ์ ขณะที่ที่สวนลุมพินีอาจเป็นบรรยากาศในแบบแจ๊ซแบนด์ถอดมาจากหลุยเซียนา

แต่ที่โดดเด่นย่อมเป็นภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เพียงออกโรงเต้นร่วมกับประชาชนที่สวนรถไฟยังพอทำเนาเพราะเป็นเพลงแบบสุนทราภรณ์ แต่ที่สวนลุมพินีกลับเป็นแบบแจ๊ซ แจ๊ซ ครึกครื้น

นี่ย่อมเป็นความฝังจำ ประทับจิตไม่เสื่อมคลาย

จากสวนรถไฟ จากสวนลุมพินี นั่นแหละก่อให้เกิดสถานการณ์ สวนเบญจกิติ

เมื่อกองทัพบกประกาศความพร้อมในการจัดทีมนักดนตรีจาก“กรมดุริยางค์ทหารบก”เข้าร่วมบรรเลง“ดนตรีในสวน”

เป็นงานโดยตรงของ “กรมกิจการพลเรือนทหารบก”

ภาพจากสวนเบญจกิติเป็นอย่างไรคงเห็นกันอย่างเด่นชัดเพราะมีการไลฟ์ ภาพจากมิวเซียมสยามเป็นอย่างไรคงเห็นกันอย่างเด่นชัดเพราะมีการไลฟ์

ความคึกคักเป็นของมิวเซียมสยามอย่างไม่มีข้อสงสัย

การขานรับและสนองตอบจาก“ประชาชน” จึงเป็นเครื่องชี้วัดแหลมคมในทางการเมือง

เท่ากับเป็นการแสดง“ปฏิกิริยา”ต่อการมาของ “กรมดุริยางค์ทหารบก” เท่ากับเป็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับที่ปรากฏในมิวเซียมสยาม

มีความไม่ไว้วางใจ “ทหาร” แม้กระทั่งจาก “เสียงเพลง”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ