คำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีเป้าหมายเพื่อเป็นคำตอบ เป็นทางออกทางการเมือง
ด้านหนึ่ง การมีคำสั่งพักการปฏิบัติราชการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีสร้างความพอใจโดยพื้นฐาน
แต่ก็เป็นคำสั่งที่ยัง “ค้างคา” อยู่ในความรู้สึก
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เมื่อผลแห่งคำสั่งนี้ส่งผลให้คนที่เข้าไปแทนที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แม้จะเสมอเป็นเพียง “รักษาราชการ” ชั่วคราวก็ตาม
การสไลด์เข้าไปแทนที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กลายเป็น “คำถาม”
ไม่เพียงเป็นคำถามถึงผลพวงอันเนื่องแต่ “คำวินิจฉัย” ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าดำเนินไปอย่างมีเงื่อนงำอันสะท้อนความคิดแบบใด
หากยังเสนอความสงสัยในแบบ “ลับ ลวง พราง”
ทั้งหมดนี้เป็นความสุกงอมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นการวางจังหวะก้าวอย่างแยบยลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่
เพราะเคยมีการระบุ “รักษาการ” นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้
ข้อสันนิษฐานที่ยกมาคือรูปธรรมหนึ่งแห่งความสลับซับซ้อนของสังคมการเมือง
เป็นไปตามยุทธวิธีอันได้รับการเอ่ยอ้างตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
นั่นก็คือ เป็นไปตามแผน “ลับ ลวง พราง”
เป้าหมายอาจเพื่อสร้างความสับสนให้กับฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งสัประยุทธ์ชิงความได้เปรียบในทางการเมือง
แต่สุดท้ายกลับ “ลับ ลวง พราง” แม้กระทั่งพวกเดียวกัน
คำถามก็คือ ทำไมกระแสขานรับต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงมิได้เป็นด้านบวก
นั่นเพราะว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนเป็นคอหอยและลูกกระเดือกกันในทางการเมือง
จึงแทบมิได้คาดหวังอะไรกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ