คำประกาศรักษา “ฐานที่มั่น” ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนนัยยะอะไร
หากมองจากที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง นายชวน หลีกภัย อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” มาแล้ว
นี่ย่อมเป็นสภาวะ “ถดถอย” อย่างเห็นได้ชัด
ความสามารถเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคเข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” คือความยิ่งใหญ่ยรรยง
ถามว่าการถดถอยของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพราะอะไร
ทำไมการเป็นตัวแทนของทั่วประเทศจึงได้กลายเป็นตัวแทนเพียงภาคใต้
ไม่ว่า นายชวน หลีกภัย ไม่ว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจมีคำตอบลึกๆ อยู่แล้วในใจในแบบของพรรคประชาธิปัตย์
นั่นก็คือ ชี้มือไปยังพรรคไทยรักไทย
การเติบใหญ่ของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 ทำให้พรรคที่เคยใหญ่ในอดีตต้องกลายเป็นพรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก
สภาพการณ์นี้พรรคประชาธิปัตย์กระทบโดยตรง
เทียบกับพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ยั้งยืนยาว
พรรคกิจสังคมเพียงพ้นเดือนมกราคม 2544 ก็แตกฉานซ่านเซ็น พรรคชาติไทยลดขนาดลงเป็นพรรคภาคกลาง และพรรคระดับจังหวัด
พรรคประชาธิปัตย์ยังแจ้งเกิดในกทม.และภาคใต้
แต่เมื่อผ่านการต่อสู้กับพรรคพลังประชาชนมาถึงพรรคเพื่อไทย สภาพของพรรคประชาธิปัตย์ก็ลดขนาดลงเหลือเป็นเพียงพรรคระดับภาค
ยิ่งถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รุกไล่ยิ่งเจ็บปวด
การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 จะเป็นบทพิสูจน์พรรคประชาธิปัตย์
ไม่ว่า นายชวน หลีกภัย จะตีกลองสะบัดชัย ไม่ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะนั่งมากับ “ม้าขาว” แต่คราวนี้ต้องถือว่าหืดระบมคอ
นั่นก็คือ จะรักษา “แชมป์” ในภาคใต้ไว้ได้หรือไม่