สถานะแห่งความเป็น “สถาบัน” ของพรรคประชาธิปัตย์กำลังถูก “ท้าทาย” อย่างแหลมคม
เหมือนกับตัวจุดชนวนจะมาจากกรณีอื้อฉาว ของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ซึ่งเด่นชัดว่าเข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรคด้วยกระบวนการ “พิเศษ” ในทางการเมือง
ด้วยการผลักดันของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ขณะที่บทบาทของ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ในการเขียนรายละเอียดอันสับสนในความอื้อฉาวทางเพศภายในพรรคก็มีส่วนในการสาดน้ำมันเข้าไป
ทั้งๆ ที่อยู่ในจุดอันเป็น “ที่ปรึกษา” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ถามว่าปฏิกิริยาอันเหมือนกับ “แคนนอน” ทางการเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นการออกโรงชี้เป้าโดย นายเทพไท เสนพงศ์ ตามมาด้วยการชำแหละสถานการณ์รายวันโดย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์
แล้วก็การยื่นใบลาออกของคนสำคัญคนแล้วคนเล่า
จากการแสดงออกอย่างเฉียบขาดของ นายวิทยา แก้วภราดัย ตามมาด้วยการถอนตัวจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคของ นายกนก วงษ์ตระหง่าน
ทุกสายตาล้วนทอดมองไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ต้องยอมรับว่าบทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มากด้วยความแหลมคม
ประการ 1 เขาลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงมารยาททางการเมือง เนื่องจากความล้มเหลวจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562
ประการ 1 เขาลาออกจากสมาชิกภาพแห่ง ส.ส.
ประการหลังนี้เพราะไม่เห็นด้วยกับมติของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2562
จังหวะก้าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นปัญหาหลักการ
ทุกจังหวะก้าวการเคลื่อนไหว “ภายใน” พรรคประชาธิปัตย์แวดล้อมอยู่กับคำว่า “สถาบัน”
สถานะแห่งความเป็น “สถาบัน” พยุงเสริมเกียรติภูมิพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นสูงเด่น ขณะเดียว กัน ก็กำลังเป็น “คำถาม” อันแหลมคมไปยังพรรคประชาธิปัตย์
“น้ำ” พยุงเรือให้ลอย “น้ำ” ก็ฉุดดึงเรือให้จมได้