การตอบโต้อย่างดุเดือดระหว่าง “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” มากด้วยความร้อนแรง
เป็นความร้อนแรงถึงกับยกเอานิทานอีสปเรื่อง “ราชสีห์” กับ “หนู” มาเป็นอุทาหรณ์ในเชิงประชดประเทียดและเสียดสีอย่างไม่เกรงใจกัน
ลำพังเพียงระบุเสียง “เห่า” จาก “ราชสีห์” ก็เข้มข้นอย่างยิ่ง
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง นับแต่เดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นมา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยล้วนดำรงอยู่ในสถานะแห่งพรรคร่วมรัฐบาล
นั่นเพราะการสัประยุทธ์กันใน “ภาคใต้”
การรุกคืบของพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ “ภาคใต้” ต่างหากคือจุดเริ่มต้นแห่งการปะทะ
ความจริงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคภูมิใจไทยก็เข้าแย่งและยึดพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างดุเดือดเป็นอย่างสูง
เห็นได้จากกรณีของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
แต่ในเดือนสิงหาคม 2565 พรรคภูมิใจไทยไม่เพียงแต่เตรียมยึดพื้นที่พัทลุง หากรุกคืบไปยังกระบี่และประกาศการสู้รบในพื้นที่พังงา
พังงาอันเป็นเขตอิทธิพลของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ปฏิบัติการรุกคืบทีละก้าวทีละก้าวของพรรคภูมิใจไทยส่งผลสะเทือน
ไม่เพียงผลสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทยกระทั่งต้องมอบหมายให้ “ครอบครัวเพื่อไทย” เดินสายเปิดปฏิบัติการ “ตีหนู ไล่งูเห่า” ที่ศรีสะเกษ
หากแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐก็ถูก “พลังดูด”
ทันทีที่พรรคภูมิใจไทยออกเดินสายภาคใต้โดยการนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศเป้าหมายให้ได้ 20 ส.ส.เท่านั้นแหละ
พรรคประชาธิปัตย์จึงมิอาจนิ่งเงียบอยู่ ณ ที่ตั้ง
ทุกอย่างจึงดำเนินไปเหมือนคำพังเพยที่ว่า “จงอางหวงไข่” โดยพรรคประชาธิปัตย์
สะท้อนให้เห็นว่าการต่อสู้ในทางการเมืองไม่มีพื้นที่ใดต้องละเว้น หากมั่นใจว่าได้เปรียบแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็ไม่มีเว้น
ศึก “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” คือตัวอย่าง