วิเคราะห์การเมือง – วูบไหว การเมือง จาก “สะพานพิบูลสงคราม” ถึง “สะพานท่าราบ”

Home » วิเคราะห์การเมือง – วูบไหว การเมือง จาก “สะพานพิบูลสงคราม” ถึง “สะพานท่าราบ”


วิเคราะห์การเมือง – วูบไหว การเมือง  จาก “สะพานพิบูลสงคราม”  ถึง “สะพานท่าราบ”

สถานการณ์“สะพานท่าราบ” ปรากฏขึ้นอย่างเงียบเชียบ แต่อำลาไปอย่างครึกโครม

พลันที่เห็นชื่อของ“ท่าราบ”และเกิดในบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองวาระ 90 ปีแห่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ผู้คนก็เริ่มมองถึงความเกี่ยวโยง

คำถามก็คือ ด้วยเหตุผลอะไรชื่อของ“สะพานท่าราบ” จึงเข้ามาทับอยู่บนชื่อของ“สะพาน พิบูลสงคราม”

นี่ย่อมเป็น“ความนัย” อันลึกซึ้งเมื่อ 90 ปีก่อน

จําเป็นต้องทำความเข้าใจต่อคำว่า“พิบูลสงคราม” และ“ท่าราบ”อย่างจริงจัง

ท่าราบเป็นนามสกุลของ“นายดิ่น” อันเป็นชื่อจริง สกุลจริงของ นายพันเอกพระยาสิทธิสงคราม นายทหารที่มีชื่อเสียงในแผ่นดินของรัชกาลที่ 7

สำคัญเพราะร่วมใน“กบฏบวรเดช”เมื่อเดือนตุลาคม 2476

ขณะที่คำว่า“พิบูลสงคราม”มาจากชื่อของ นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีบทบาทในการปราบ“กบฏบวรเดช”จนได้ชัยชนะ

ที่สำคัญทั้ง 2 คนล้วนเป็นทหารเหล่า“ปืนใหญ่”

เจตนาในการนำชื่อ“สะพานท่าราบ” มาทับ “สะพานพิบูลสงคราม”แจ่มชัดอย่างยิ่ง

แจ่มชัดหากรับรู้ว่าในยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้ปรากฏชื่อ “ห้องศรีสิทธิสงคราม” ขึ้นในกองบัญชาการกองทัพบก

ใกล้เคียงเรียงกับ“ห้องบวรเดช”

เมื่อในกองบัญชาการกองทัพบกมีชื่อ “ห้องบวรเดช” และ“ห้องศรีสิทธิสงคราม”ได้ไฉนชื่อของ“สะพานท่าราบ”จะแทน“สะพานพิบูลสงคราม” ไม่ได้

เพียงแต่ว่าการกระทำนี้จะเป็นของกลุ่มใด ในทางการเมืองเท่านั้น

ปรากฏการณ์“สะพานท่าราบ”จึงสัมพันธ์กับ“อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ที่หายไป

เมื่อสามารถทำให้อนุสาวรีย์“ปราบกบฏ”อันหมายถึงกบฏเมื่อเดือนตุลาคม 2476 หายไปได้ไฉนจะไม่มี “สะพานท่าราบ” ได้เล่า

เรื่องแบบนี้ยังจะเกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างแน่นอน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ